ใน ช่วงสงกรานต์แบบนี้ หลายท่านเดินทางออกต่างจังหวัดผ่านเส้นทางที่ดีและไม่ดี แน่นอนว่าทุกเส้นทางหากไม่ชำนาญก็สามารถเกิดอันตรายได้ง่าย วันนี้เราจึงนำ 10 เส้นทางอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก จากข้อมูลของกรมทางหลวงมาบอก เพื่อให้ใครที่สัญจรผ่านเส้นทางเหล่านี้ได้ระมัดระวังมากขึ้น
1. ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค (กม.60-67) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
เป็นทางตรง 10-12 ช่องจราจร (รวมทางขนานฝั่งละ 2 ช่องจราจร) บริเวณนี้ปริมาณการจราจรสูงและรถขนาดใหญ่วิ่งเป็นจำนวนมาก บางครั้งรถขนาดใหญ่ใช้ความเร็วสูงเกินกฎหมายกำหนด เกิดการตัดหน้ากระชั้นชิดบริเวณจุดเปิดเกาะกลาง
2. ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงหน้าค่ายเพชรรัตน์ (กม.24-34) จ.สระบุรี
เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขา มีโค้งหลายโค้งต่อเนื่องกัน และเป็นทางลาดชันลงเขา
3. ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงเขาพะวอ (กม.23-30) และดอยรวก (กม.64-70) จ.ตาก
ทั้ง 2 ช่วงเป็นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน รวมทั้งสภาพเป็นป่ารกทึบ ประกอบกับเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งไปยังประเทศพม่า ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณการจราจรมาก
4. ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงสะพานพ่อขุนผาเมือง (กม.347-375) จ.เพชรบูรณ์
บริเวณนี้เป็นทางลงเขาลาดชันยาวประมาณ 3 กม. เป็นทางโค้งรูปตัวเอส (S) ต่อเชื่อมกับสะพานคอนกรีตข้ามทางระหว่างเขา ถนน 2 ช่องจราจร สะพานอยู่ระหว่างโค้ง (โค้งมีรัศมี 200 เมตร) ช่วงบริเวณสะพานเป็นเหวลึกกว่า 50 เมตร
5. ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอำเภอพรหมบุรี (กม.77-82) จ.สิงห์บุรี
เนื่องจากเป็นถนนทางตรง ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเปิดเกาะกลางกลับรถรอเลี้ยวที่ กม.77+500, 78+000, 78+600, 80+340 และรถมักวิ่งด้วยความเร็วสูง หรือประชาชนอ่อนเพลียจากการขับรถเป็นระยะทางไกล ผู้ขับขี่หลับใน รวมถึงมีการตัดหน้ากระชั้นชิด
6. ทางหลวงหมายเลข 35 บริเวณสะพานแม่น้ำท่าจีน (กม.28-32) จ.สมุทรสาคร
เส้นทางเข้าเมืองสมุทรสาคร และไปอำเภอกระทุ่มแบน เป็นย่านชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม มีปริมาณการจราจรสูงและรถใช้ความเร็วสูง ประกอบกับเป็นทางโค้งและมีจุดเข้าออกทางขนานหลายแห่ง อีกทั้งรถจักรยานยนต์มักจะวิ่งย้อนศรบนสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน
7. ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงอุทยานทับลาน (กม.42-45) จ.ปราจีนบุรี
เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน มีรถบรรทุกหนักจำนวนมากวิ่งผ่าน ซึ่งรถเหล่านี้จะเคลื่อนตัวได้ช้าเมื่อวิ่งขึ้นเขาจึงเกิดการแซงกันของรถ ขนาดเล็กในระยะคับขัน ขณะเดียวกันรถบรรทุกและรถสัญจรโดยส่วนใหญ่ขณะขับลงเขามักจะใช้ความเร็วเกิน กำหนด เมื่อมีสถานการณ์เฉพาะหน้าคับขันจะทำให้การควบคุมรถเป็นไปด้วยความยากลำบาก
8. ทางหลวงหมายเลข 225 ช่วงทางลงเขาพังเหย (กม.181-185) จ.ชัยภูมิ
บริเวณนี้เป็นทางโค้ง และเป็นทางลาดชันสูง
9. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงโค้งหนองหญ้าปล้อง (กม.365+013-365+113) และช่วงโค้งสายเพชร (กม.389+700-390+000) จ.ประจวบคีรีขันธ์
เป็นถนนสายหลักลงสู่ภาคใต้ เป็นทางโค้งต่อเนื่องและมีจุดกลับรถอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รถสัญจรด้วยความเร็วสูง
10. ทางหลวงหมายเลข 4197 ช่วงโค้งบางโสก (กม.5+400-8+680) จ.พังงา
เป็นทางโค้งลาดชันลงเนิน
นอกจาก 10 เส้นทางดังกล่าวข้างต้นแล้ว อธิบดีกรมทางหลวงยังกล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักพบว่าช่วงวันแรก ๆ ของการเดินทางปริมาณรถจะหนาแน่นในฝั่งขาออก แต่ถนนจะโล่งในฝั่งขาเข้า และในทางกลับกันเมื่อประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ปริมาณรถจะหนาแน่นในฝั่งขาเข้า รถจะโล่งในฝั่งขาออก ทำให้รถจะวิ่งด้วยความเร็วสูงเพราะถนนโล่ง
เพื่อความปลอดภัยของประชาชน กรมทางหลวงจึงได้ประสานงานตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธรในพื้นที่ ตั้งจุดสกัดบนทางหลวง พร้อมขอให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนระมัดระวังการเดินทางด้วย
ที่มา: http://car.kapook.com/view86301.html
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม