สรุป ข้อเท็จจริงกรณีการโพสต์ขายข้าวสารผ่านเฟซบุ๊ก (การขายแบบออนไลน์)
- พฤติกรรมการขายผ่านเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม (การขายแบบออนไลน์)
ที่ปรากฎตามข้อเท็จจริงในขณะนี้ จากการตรวจสอบพบว่า
องค์ประกอบในการกระทำการขายหรือโพสต์ข้อมูลยังไม่ครบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ซึ่งมีบัญญัติไว้ตาม พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ ๒๕๔๕
- ณ ตอนนี้ จดทะเบียนขายตรง หรือตลาดแบบตรง
ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และต้องมาจดเฉพาะส่วนกลาง
(ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) เท่านั้น
กฎหมายยังไม่ให้อำนาจส่วนอื่นใดรับจดทะเบียน การประกอบธุรกิจขายตรง
หรือการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
- กฏหมายมีเจตนาต้องการที่จะกำกับดูแล
ส่งเสริม
กับบุคคลหรือใครก็ตามที่ต้องการจะทำในลักษณะที่เป็นการประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง
ไม่ใช่มีเจตนาที่จะกำกับให้บุคคลที่ทำบ้างเป็นครั้งบางคราว
แค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นการเฉพาะกิจ ดังนั้น
ร้านค้าใดที่เข้าข่ายนิยามบ้างต้องมาดูรายละเอียดถึงพฤติกรรมอีกทีว่าการที่เค้าโพสต์เป็นเพียงแค่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในตัวของสินค้าเท่านั้น
ไม่มีช่องทางให้คนทั่วไปซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กได้
หรือผู้โพสต์ไม่ได้บอกรายละเอียดอย่างเพียงพอที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้
หรือหากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าต้องไปตกลงกันอีกที
ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตาม
พรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ ๒๕๔๕
- ความจริงการขายแบบตลาดแบบตรงหรือที่เรียกสั้นๆ
ว่าการขายแบบออนไลน์ ผู้ขายต้องให้ข้อมูลผู้บริโภค หรือคนที่เห็นสื่อนั้นๆ
สามารถตัดสินใจสั่งซื้อได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปหาข้อมูลอื่นๆ อีก
เพื่อประกอบการตัดสินใจในการที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ
ถ้าหากผู้ขายให้ข้อมูลผู้บริโภคไม่ครบถ้วนและทำให้ไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้
หรือทั้งสองฝ่ายยังคงต้องไปตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการซื้อขาย
ถือว่าสัญญายังไม่เกิดบนสื่อ ณ ขณะนั้น
สัญญาไปเกิดขึ้นหลังจากไปที่ตกลงกันอีกที
แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการตลาดแบบตรงตาม พรบ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ ๒๕๔๕
- การโพสต์ขายข้าวสารของชาวนาจริงๆ
ก็ไม่มีลักษณะและเจตนาที่จะประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง
เป็นเพียงแค่การหาช่องทางระบายข้าวแบบเป็นครั้งคราว
ถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจตามที่กฎหมายจะต้องเข้าไปกำกับดูแล
หรือจะต้องจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด
เพราะการประกอบธุรกิจเป็นการมุ่งหวังผลกำไรเป็นตัวตั้งและต้องกระทำการนั้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจะทำแบบชั่วครั้งชั่วคราวคงเป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจ
หากเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง คำนิยามตามมาตรา ๓ "ตลาดแบบตรง"
คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย
สินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค
ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ
จากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น
มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบีบนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงตาม พรบ.นี้
บทลงโทษตาม
มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี
หรือปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน ๑
หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
ที่มา : สคบ. กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง