เตือนภัย!! ใครใช้ Internet Mobile Banking มาดูวิธีตรวจสอบสลิปโอนเงินปลอม-SMS หลอกกัน..
จากกรณีที่ผู้ขายสินค้าออนไลน์
ถูกลูกค้าสั่งซื้อสินค้าและทำทีว่าโอนเงินมาให้
โดยการทำสลิปการโอนเงินปลอม เพื่อตบตาเจ้าของร้าน
แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าไม่มีเงินโอนเข้า
นายอาจ
วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารยุทธศาสตร์องค์กร
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สลิปการโอนเงินปลอม
มีใช้มานานตั้งแต่มีตู้เอทีเอ็ม
แต่ระยะหลังมานี้มีการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ทางโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนใหญ่
หรือถ้าเป็นของธนาคารกสิกรไทยจะเรียกว่า โมบายแบงค์กิ้ง
ของเคโมบายแบงค์กิ้งพลัส
จึงมีการปลอมสลิปการโอนเงินโดยการแก้ไขตัดแต่งรูปภาพ
ซึ่งได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการอยู่เป็นระยะ
ทางธนาคารกสิกรไทยจึงได้เข้าไปอธิบายในอินเตอร์เน็ต
ถึงวิธีการตรวจสอบว่าสลิปการโอนเงินปลอมนั้นเป็นอย่างไรและควรตรวจสอบอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
โดยหลักๆ
ในการตรวจสอบจะต้องตรวจสอบรายการของธนาคารนั้นๆ เช่น
ถ้าใช้เคโมบายแบงค์กิ้ง
สามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังในบัญชีของทางธนาคารในช่วงเวลาที่มีการโอนเงินเข้ามา
จากบัญชีไหน และช่องทางไหน
ส่วนอีกวิธีสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของทางธนาคาร
โดยเข้าไปที่การตรวจสอบเอกสาร
ซึ่งจะให้ลูกค้ากรอกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้โอนเข้าบัญชีว่าเลขที่รายการอะไร
จำนวนเงินเท่าไหร่
พอคลิกเข้าไปก็จะแสดงรายละเอียดผู้ใช้บริการสามารถเปรียบเทียบกับสลิปที่ได้มาว่าตรงกันหรือไม่
ส่วนวิธีสุดท้ายคือการแจ้งเตือนข้อความ
SMS จากทางธนาคาร แต่จุดนี้ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะการแจ้งเตือน SMS
เคยมีกรณีที่คนร้ายปลอมในช่องทางนี้เหมือนกัน
คือสมมุติผู้ซื้อจะโอนให้ผู้ขาย นอกจากส่งสลิปปลอมแล้วยังส่ง SMS
ปลอมไปให้ด้วย ซึ่งถ้าดูดีๆ จะเป็นข้อความ SMS ธรรมดา
แต่เขียนให้เหมือนของธนาคาร
ถ้าผู้รับไม่ทันมองดีๆว่ามาจากโทรศัพท์มือถือก็จะไม่รู้ว่าเบอร์ที่ส่งมาไม่ได้มาจากทางธนาคาร
“คนนิยมใช้เคโมบายแบงค์กิ้งพลัส
2-3ล้านคน มีการใช้สลิปเยอะ
ก็เป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้กระทำผิด
ผู้ขายสินค้าต้องระวังส่วนรูปแบบการปลอมสมัยก่อนมีการตัดแปะจากในกระดาษ
โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชี และตัวเลขที่ต้องการโอน
ซึ่งแนบเนียนมากแยกแยะได้ยาก ส่วนปัจจุบันจะเป็นรูปภาพการโอนเงินในมือถือ
ก็จะตัดต่อในโปรแกรมโฟโตช้อปในคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแปลงตัวเลข บัญชี
จำนวนเงิน ซึ่งต้องยอมรับถ้าทำเนียนๆจะดูยากมาก
แนะนำให้ตรวจสอบกับระบบธนาคาร
ซึ่งผู้ที่ถูกหลอกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ขายที่ถูกผู้ซื้อหลอกลวง ” นายอาจ
เปิดเผย
ด้าน พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท. ระบุว่า
การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในอดีตจะเป็นผู้ซื้อที่ถูกหลอก
แต่อยู่มาผู้ซื้อกลายเป็นคนหลอกลวงเจ้าของร้านแทน
ซึ่งล่าสุดพบมีการทำสลิปการโอนเงินปลอมขึ้นมาอีก
แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายของออนไลน์เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีเกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าการหลอกลวงโดยการทำสลิปปลอมขึ้นมาจะยังมีไม่สูงนัก
เมื่อเทียบกับการที่มีผู้เสียหายได้เข้ามาแจ้งความกับตำรวจปอท. เพียง 1 ราย
เมื่อเดือนที่ผ่านมา
แต่ตำรวจก็ได้เข้มงวดตรวจสอบการกระทำผิดทาง
คอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ
เพราะการหลอกลวงในลักษณะนี้แกะรอยคนร้ายไม่ยาก
เพราะมีหลักฐานการส่งของไปยังที่อยู่อาศัยของคนร้าย
ตำรวจก็สามารถตามไปจับกุมได้ เป็นเรื่องไม่ยากที่จะดำเนินคดี
รอง
ผบก.ปอท. ยังบอกถึงวิธีการของกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำการปลอมสลิปโอนเงิน
โดยใช้รูปแบบจริงของสลิปโอนเงิน
ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินทางออนไลน์หรือโอนทางตู้เอทีเอ็ม
คนร้ายจะใช้วิธีการตัดแปะตัวเลขตกแต่ง
ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการแต่งภาพโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมโฟโต้ช้อป
เป็นเรื่องที่หลอกลวงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ
แต่ใช้รูปแบบที่ธนาคารออกสลิปหลักฐานการโอนเงินให้มาเป็นตัวอย่างให้ตัดแปะตัวเลขของตัวเงินหรือเลขบัญชี
ให้ตรงกับข้อมูลที่จะหลอกผู้ขาย
ซึ่งขณะนี้ถ้าดูตามเว็บไซต์หรือออนไลน์ก็มีการแชร์เตือนภัยกันเป็นจำนวนมาก
“วิธีการปลอมใบสลิปการโอนเงิน
เพียงแค่เปลี่ยนยอดเงินโอน เวลาการโอน เลขบัญชีธนาคาร และส่งให้กับผู้ค้า
พร้อมส่งข้อความ SMS การโอนเงินปลอมที่ไม่ได้ส่งมาจากธนาคารโดยตรง
แต่เป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ แต่ใช้วิธีการพิมพ์ข้อความลอกเลียน SMS
ของธนาคารแล้วส่งมายังผู้ค้า
จึงอยากเตือนให้ผู้ค้าควรตรวจสอบการโอนเงินของลูกค้าก่อนที่จะส่งของไปให้
ว่าเงินได้เข้ามาในระบบแล้วหรือไม่” รองผบก.ปอท. กล่าว
ส่วนมาตรการๆแก้ปัญหานี้มีอยู่
2 ส่วน คือตำรวจต้องประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของร้านตรวจสอบสลิปการโอนเงิน
ก่อนตัดสินใจการซื้อขายสินค้าและส่งของไปให้ ว่าเงินเข้ามาแล้วหรือไม่
ยิ่งปัจจุบันผู้ค้ามีระบบออนไลน์ในการตรวจสอบยอดเงิน
และสามารถตรวจสอบได้ว่ามาจากบัญชีของบุคคลใด ส่วนผู้ซื้อก็เช่นเดียวกัน
ถ้าไม่อยากถูกหลอกก็ควรตรวจสอบสินค้าให้ดี โดยการตรวจสอบทั้งตัวสินค้า
ทั้งผู้ขาย และจุดนัดรับสินค้า