อันตรายมาก! เตือนถ้าป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ห้าม "นวด" เด็ดขาด

เตือน!ถ้าป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ห้าม "นวด" เด็ดขาด

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อโซเชียล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ถึงหญิงอายุ 59 ปี ซึ่งได้นวดจับเส้นที่ร้านนวดแผนไทยแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี จนเป็นเหตุให้ขาของหญิงรายดังกล่าวหัก จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่ากรม สบส.ในฐานะหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคมิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร้านนวดดังกล่าว พบชายวัย 50 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพและเป็นผู้ให้บริการแก่หญิงรายดังกล่าวด้วย โดยได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ จาก สสจ.ชลบุรี จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขอเน้นย้ำให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่ง ต้องมีการซักประวัติเพื่อประเมินสภาพร่างกายของผู้มารับการนวดทุกครั้ง ห้ามให้บริการนวดแก่บุคคลที่มีอาการ 13 ข้อดังต่อไปนี้ คือ


    1.มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
    2.มีอาการโรคติดเชื้อเฉียบพลัน
    3.มีการอักเสบจากการติดเชื้อ
    4.กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน
    5.เป็นโรคหัวใจ 6.ความดันโลหิตสูง
    7.เบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้
    8.มีโรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง
    9.โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ
    10.โรคมะเร็ง
    11.แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท
    12.หลอดเลือดดำอักเสบ และ
    13.กระดูกพรุนรุนแรง  ห้ามให้บริการนวดเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายได้        

โฆษกกรม กล่าวอีกว่า จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาดคือ ตามแนวกระดูกและหลอดเลือด แนวกระดูกต้นคอ         แนวกระดูกสันหลัง  บริเวณซี่โครง บริเวณข้างคอ  ใต้หู  หลังหู  และต่อมน้ำเหลืองใต้คาง การนวดบริเวณหลังจะเป็น     การนวดตามแนวสันกล้ามเนื้อไม่ใช่บริเวณกระดูกสันหลัง  ส่วนจุดที่ต้องระวังคือการกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียวไม่เกิน 45 วินาที และจุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆเช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา ส่วนข้อควรระวังอื่น           คือ กลุ่มเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้  โรคกระดูกพรุนรุนแรง  ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กและข้อเทียม หรือจุดที่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง บริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ  กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน  โรคหัวใจ  ความดันโลหิตสูง  โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง   โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ   โรคมะเร็ง   แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท   หลอดเลือดดำอักเสบ  เป็นต้น

หากประชาชนพบร้านนวดไม่ได้มาตรฐาน หรือเปิดร้านโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งเบาะแสมายังกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18429 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และประสานพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป