การกินเจ ไม่ใช่การทำบุญ การกินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่การทำบาป คำสอนที่ลึกซึ้ง..อยากให้ลองอ่านกันดู

การกินเจ ไม่ใช่การทำบุญ การกินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่การทำบาป

เรื่อง "การบริโภคเนื้อสัตว์"

(วิสัชนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ)
สมเด็จพระสังฆราช เคยปรารถเรื่องการกินเจกับพระราชินีว่าคนไทย "เข้าใจผิด" อยู่มาก

การกินเจ (ตั้งใจไม่กินเนื้อสัตว์) จริงๆไม่ได้บุญ

อธิบาย คือ เราไม่กินข้าวขาหมู แล้วคิด(จิตนาการ) ว่า หมูจะไม่ถูกฆ่า เปรียบได้กับเรานั่งอยู่บ้านเฉยๆ แล้วคิด(จิตนาการ) ว่า เราไปช่วยสอนหนังสือคนอนาถา บุญที่เราไปสอนหนังสือคนอนาถานั้น ไม่มี ไม่เกิด เพราะเรา นึกๆคิดๆไปเองไม่ได้ทำ ไม่ได้กระทำจริง ถ้าอยากได้บุญ เราต้องช่วยชีวิตสัตว์ มี ๒ ข้อ คือ

๑.ช่วยชีวิตมันโดยการไถ่ชีวิต ซื้อสัตว์ที่กำลังถูกฆ่านำมาปล่อย
๒.เมตตาสัตว์ไม่ทำร้ายมัน อย่างนี้เป็นบุญ

แต่การกินเจ บุญไม่เกิด เพราะเราไม่ได้ลงมือกระทำจริง(ช่วยชีวิตสัตว์) เป็นเพียงแต่คิดไปเอง

พระเทวทัตเคย มาเสนอให้ชาวพุทธไม่กินเนื้อสัตว์
พระพุทธเจ้าปฎิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า
๑. เนื้อสัตว์ไม่ใช่ของเหม็น อกุศลกรรมต่างหากที่เป็นของเหม็น
๒. พระต้อง ควรเป็นผู้เลี้ยงง่าย
๓. อนุญาติในการกินเนื้อสัตว์ที่ -ไม่เห็น -ไม่รู้ -ไม่ใช่เนื้อที่ฆ่าโดยเฉพาะให้ตน
๔. อาหารเป็นแค่ของเลี้ยงกายไม่ให้ตาย อย่าสนใจมาก

การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่ ?

การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง

เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ วิธี แล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย

การกินเนื้อสัตว์ บาป หรือ ไม่ ?

การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่า การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วย องค์ ๕ คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ จึงถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ ผิดศีลข้อที่ ๑ เป็นบาป แต่ถ้าไม่ได้ลงมือฆ่าเอง และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ก็ไม่เป็นบาป ตัวอย่าง เราไปจ่ายตลาด ซื้อกุ้งแห้ง ปลาดุกย่าง ปลาทู เนื้อหมู ฯลฯ เราได้มีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นย่อมตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาเป็นอาหาร ถึงเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์เหล่านั้นก็ตายอยู่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนทำให้ตาย

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า

“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต”
“บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”

การกินผักก็อาจจะต้องฆ่าสัตว์ทางอ้อมไปด้วยเช่นกัน เพราะต้องไถดิน ใส่ปุ๋ย ใช้ยากำจัดแมลง อาจทำให้แมลงต่างๆ ไส้เดือนตายได้ ถ้าแบบนี้บาปก็คงไม่ต้องทำสัมมาอาชีพกันเลย

หลวงปู่แหวนท่านบอกว่า
"ไอ้วัวควายกินหญ้าอยู่ตั้งนาน ไม่เห็นเป็นพระอรหันต์ซักตัว"

จากเพจ พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น