รู้ไหมว่า “นอนมากเกินไป” เสี่ยงเป็นโรคร้ายได้แบบไม่รู้ตัว

เป็นเรื่องปกติของคนเพิ่งตื่นนอนมากๆ ที่จะรู้สึกง่วง อยากนอนต่อ หรือไม่อยากตื่นเลย แต่คุณรู้ไหมว่า การที่คุณ นอนมากเกินไป นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี สำหรับ ร่างกายเหมือนกัน เพราะมันอาจทำให้คุณเป็นโรค ต่างๆ ได้แบบไม่รู้ตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปัญหาของกระดูกและข้อ สมองเฉื่อยชา ซึมเศร้า เป็นต้น

แล้วถ้าคุณยิ่งมีความรู้สึกง่วงนอนระหว่างวัน ตื่นยากมากกว่าเดิม อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด!

คนที่มีภาวะ นอนมากเกินไป (Hypersomnia) จะมีลักษณะที่ต้องการการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน และจะตื่นยากมาก เมื่อตื่นแล้วก็รู้สึกว่าต้องการนอนต่ออีก ระหว่างวันก็ต้องการงีบหลับหลายๆ ครั้ง อาการงีบของบางรายอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ขณะคุยกันก็ยังหลับได้ระหว่างกินอาหาร เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการหรือมีคนใกล้ตัวที่มีอาการแบบนี้ แนะนำว่าควรรีบนำมาพบแพทย์เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่างๆ ตามมาได้

โทษจากการนอนเกิน

1. สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา

2. การทำงานของกระดูกกล้ามเนื้อและข้อลด ประสิทธิภาพลง หากไม่ได้มีการเคลื่อนไหวนานๆ อาจมีผลทำให้กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาข้อต่างๆ เคลื่อนไหวได้ยากตามมาได้

3. น้ำหนักเกินมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น อันอาจนำไปสู่โรคต่างๆ อาทิเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

4. กลายเป็นคนซึมเศร้า การนอนมากๆ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะ “เคมีอารมณ์ สารความสุข” จำพวก “เซโรโทนิน (Serotonin)” และ “เอนดอร์ฟิน (Endorphin)” ลดต่ำลง

สาเหตุของการนอนเกิน

• อดนอนมาเป็นเวลานาน และบ่อยๆ จนร่างกายพักผ่อนไม่พอ ทำให้นอนเท่าไรก็ไม่รู้จักพอสักที

• นาฬิกาในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น เดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมากๆ

• ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ ทำให้ร่างกายนอนมากผิดปกติ

• นอนกรน มีภาวะการณ์หยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ

• สมองได้รับบาดเจ็บหรือโรคเกี่ยวกับทางสมองต่างๆ

• การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ฯลฯ

เทคนิคการนอนหลับได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ

1. พยายามตั้งเวลาเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่มเพื่อให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนดีๆ ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยให้หลับได้ดีรวมไปถึงทำให้ร่างกายมีการฟื้นฟูซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. กำหนดตารางเข้านอน และตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกๆ วัน ติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่น

3. จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา

4. ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น และยังทำให้ร่างกายแอ็คทีฟด้วย

5. งดอาหาร junk food น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ร่างกายคุมไม่ได้ ทำให้ง่วง เหนื่อย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก

6. ก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมงควรงดอาหารหนักๆ