“เปราะหอม” เป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ สมุนไพร 108 สรรพคุณ น่าอัศจรรย์

“เปราะหอม” จัดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งค่ะ มีทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง เป็นไม้ลงหัวจำพวกมหากาฬ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า “เหง้า” เนื้อภายในของเหง้ามีสีเหลืองอ่อน และมีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดขม พบได้มากทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่นิยมนำหัวและใบของเปราะหอมมาปรุงเป็นอาหาร ใบกินเป็นผักสดแกล้มอาหาร หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกง หั่นใส่อาหารจำพวกผัดเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำราดข้าวมันไก่ ทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก น้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม อีกทั้งคนไทยโบราณเชื่อว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจต่างๆ นำใส่ลงไปน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เรามาดูสรรพคุณของต้นเปราะหอมกันค่ะ น่าสนใจมากทีเดียวเลยค่ะ

ชื่ออื่น : ว่านเปราะหอมแดง, เปราะหอมขาว, ว่านหอม, หอมเปราะ, ว่านตีนดิน(เหนือ), ว่านนกยูง, ว่านหาวนอน, ว่านแผ่นดินเย็น(เชียงใหม่), ซู(แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia galanga Linn.
ชื่อสามัญ : Sand Ginger, Aromatic Ginger, Resurrection Lily
วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
1.เปราะหอม เป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า เนื้อภายในสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก มีกลิ่มหอมเฉพาะตัว

2.ใบเปราะหอม เป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน 2-3 ใบ แผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย มีขนอ่อนบริเวณท้องใบ บางครั้งอาจพบขอบใบมีสีแดงคล้ำ เนื้อใบค่อนข้างหนา ตัวใบมีขนาดกว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ก้านใบเป็นกาบยาว 1-3 ซม.ดอกออกรวมกันเป็นช่อ ยาว 2-4 ซม.มี 4-12

3.ดอกเปราะหอม ออกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูแต้มสีม่วง แต่ละดอกมี กลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ ซึ่งใบและต้นจะเริ่มแห้งเมื่อมีดอก

4.ผลเปราะหอม เป็นผลแห้ง แตกได้ พบมากทางเหนือ

สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอม
มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ว่านเปราะหอม หรือ เปราะหอม มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ สารสำคัญที่ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ต้นเหตุของโรคร้ายและความเจ็บป่วยต่างๆ
– มีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้คลายเครียด หมอยาโบราณใช้ทั้งหัวและใบนำมาโขลก ใส่น้ำพอชุ่ม แล้วเอาไปชุบนำมาใช้คลุมหัว หรือจะใช้เฉพาะหัวนำมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้ง หรือว่านหูเสือ ก็จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับแก้อาการปวดศีรษะได้
– ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ด้วยการใช้หัวผสมลงในยาหอม
– หัวเปราะหอมนำมาต้มหรือชงกิน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดี และยังช่วยคลายความเครียดได้อีกด้วย
– น้ำคั้นจากใบและเหง้านำมาใช้ป้ายคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
– น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ล้างศีรษะเพื่อช่วยป้องกันการเกิดรังแค รักษาอาการหนังศีรษะแห้ง
– น้ำมันหอมระเหยจากหัวมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดได้ คนสมัยก่อนจึงนำมาทาที่ท้องเด็กเช่นเดียวกับมหาหิงคุ์
– กินเป็นอาหารช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้
– หัวนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยอาการอักเสบได้ดี
– มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
– เปราะหอมใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาเขียวหอม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ

สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอมขาว
ดอก – แก้เด็กนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา
ต้น – ขับเลือดเน่าของสตรี
ใบ – ใช้ปรุงเป็นผักรับประทานได้
หัว – แก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ ใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับแกง สุมศีรษะเด็ก แก้หวัด คัดจมูก รับประทานขับลมในลำไส้

สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอมแดง
ใบ – แก้เกลื้อนช้าง
ดอก – แก้โรคตา
ต้น – แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
หัว – ขับเลือด และหนองให้ตก แก้ลมพิษ แก้ผื่นคัน แก้ไอ แก้บาดแผล
หัวและใบ – ใช้ในการปรุงเป็นอาหารได้

วิธีและปริมาณการใช้
ทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง ใช้ใบเปราะหอมสด 10-15 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัวสดใช้ 1/2-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 ครั้ง

ประโยชน์ของสมุนไพรเปราะหอม
1) หัวและใบ กินได้ นำมาปรุงเป็นอาหาร ใบกินเป็นผักแกล้มมีกลิ่นหอม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกง ซึ่งทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม
2) ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาว นำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม และความเชื่อที่ว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ และเป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่

ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาวมีประโยชน์อยู่มากมายค่ะ ปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางค์ ยาสระผม ผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิวพรรณ ฯลฯ ซึ่งคุณสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม มีกลิ่นหอมช่วยให้ผ่อนคลาย ถือเป็นไม้มงคลหรือว่านศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณ และที่สำคัญคือนำมาใช้ประกอบอาหารได้ดี มีคุณค่าทางสมุนไพรอีกมากเลยนะคะ