รีบเลย !! หากกำลังเผชิญวิบากกรรมหนักต้องเร่งสร้าง “พลังบุญ” อย่างไร ?

หากเจอวิบากกรรมหนักต้องเร่งสร้างพลังบุญอย่างไร

ตัวอย่างเคล็ดลับการเสริมสร้างพลังบุญเฉพาะเรื่อง

– กรณีที่มีวิบากกรรมหนัก ก็ต้องสร้างพลังบุญที่ยิ่งใหญ่ รุนแรง เพื่อทุเลาและแก้ไขวิบากกรรมนั้นด้วยอย่างทันท่วงที เช่น สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ (ถ้ากำลังในทรัพย์ปัจจัยไม่พอ ก็ให้หาเป็นเจ้าภาพร่วม ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการสร้าง ) สร้างวัด โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ สถานปฏิบัติธรรม อุทิศตัวเข้าบวชในบวรพุทธศาสนา ถ้าเป็นหญิงก็ให้บวชชี (หากไม่สะดวก ก็บวชแบบชีพราหมณ์ก็ได้) ถือศีล ปฏิบัติธรรม การบวช หรือปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นไปได้อย่างน้อย 9 วัน ขึ้นไป แล้วอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้ต้องเกิดวิบากกรรมอันหนักนั้น ถ้าทำบุญใหญ่ ๆ ได้ หลายๆอย่าง และมากๆ ในห้วงเวลาเดียวกัน ก็จะยิ่งช่วยได้มาก การแก้ไขวิบากกรรมก็จะได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

– สุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ่อย ๆ การปล่อยชีวิตสัตว์ ไถ่ชีวิตสัตว์ ถือว่าได้บุญ อันเนื่องมาจากการที่ได้ต่อชีวิตให้สัตว์ อานิสงส์จะทำให้มีอายุยืน สุขภาพแข็งแรง ช่วยคลายวิบากกรรมเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เคล็ดลับให้ได้บุญมากยิ่งๆ ขึ้น ให้ไปซื้อหรือไถ่ชีวิตสัตว์ที่เขากำลังจะฆ่า

เช่น ไปซื้อปลาที่เขากำลังจะฆ่าและนำเอาไปทำอาหาร และก่อนที่จะนำปลาไปปล่อย ให้นำไปถวายพระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญที่ดีก่อน เมื่อท่านรับและอนุโมทนาแล้ว เราก็ขออนุญาตนำปลานั้นคืนมา เพื่อที่จะเอาไปปล่อย (เพราะเราถวายปลาไปแล้ว และปลานั้นก็ได้เป็นของพระไปแล้ว)

ด้วยการถวายปัจจัยชำระหนี้ค่าปลาให้แก่พระสงฆ์ ตามจำนวนราคาที่เราซื้อมา หรือมากกว่า บุญนี้ก็จะได้มากกว่าการที่เราไปซื้อปลา และนำไปปล่อยเอง เพราะเป็นบุญที่ได้ทวีคูณเพิ่มขึ้น ตามค่าตัว หรือคุณธรรมของพระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ รวมไปถึงการถวายยารักษาโรค เป็นเจ้าภาพดูแลรักษา
พระสงฆ์ที่อาพาธ (ป่วย)

– วิบากกรรมอันเกิดจากการทำแท้ง ก็เป็นวิบากกรรมหนัก ประเภทนี้ขอให้สังเกตว่ามักจะทำอะไรไม่ขึ้น เหมือนมีอะไรมาขัดขวางอยู่ตลอดเวลา บางที เหมือนทำท่าว่าจะได้ จะสำเร็จแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ ไม่สำเร็จ เรียกว่ากินแห้วพลาดเป้าไปทุกที นั่นเป็นเพราะกรรมที่เคยไปตัดโอกาสในการมีชีวิตของผู้อื่น นอกจากจะแก้ไขด้วยการสร้างพลังบุญที่ยิ่งใหญ่ รุนแรง ด้วยการปฏิบัติดังที่ได้แนะนำข้างต้นแล้ว ก็ให้เสริมด้วยการไปซื้อเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กทารก เช่น ขวดนม นมผง ผ้าอ้อม รถเข็นเด็ก ของเล่นเด็ก ฯลฯ แล้วก็นำไปถวายให้แก่พระสงฆ์ และก็ใช้วิธีการเดียวกับเคล็ดลับการปล่อยปลาข้างต้น แล้วก็นำของเหล่านั้น ไปบริจาคให้กับสถานเลี้ยงเด็กอ่อนต่อไป

– เรียนหนังสือไม่ดี (ทั้งที่ขยันก็แล้ว) ความจำไม่ดี คิดอ่านอะไรก็ช้า ปัญญาไม่แล่น จะเล่าเรียนเขียนอ่านอะไร ก็มีปัญหามีอุปสรรคไปหมด เป็นวิบากกรรมที่เกิดจากการไปขัดขวางไม่ให้คนได้มีความรู้ เคยไปบั่นทอนสติ และปัญญาของผู้อื่นด้วยประการต่างๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนในการกระทำนั้น

เช่น ผลิต จำหน่ายสุรา เครื่องดองของมึนเมา ยาเสพติด ทั้งหลายทำให้คนหลงใหลในอบายมุข ชี้นำสั่งสอนในสิ่งที่ผิดไม่ถูกต้องตามธรรมให้ผู้คน ได้ปรามาสหรือ ดูหมิ่นดูแคลนผู้มีความรู้ ผู้ทรงศีลทรงธรรม การทุเลาและแก้วิบากกรรมในกรณีนี้ ให้ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมากรรมต่อพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ ผู้มีความรู้ทั้งหลายที่เราได้เคยละเมิด ล่วงเกินมา มากๆ บ่อยๆ

ต้องปฏิบัติธรรม สร้างธรรมทานด้วยการแจกหนังสือธรรมะ สื่อธรรมะของครูบาอาจารย์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ หนังสือสวดมนต์ (กรณีหนังสือธรรมะต้องมั่นใจว่า เป็นธรรมะที่ถูกต้องด้วย ถ้าไม่แน่ใจต้องให้ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้รู้จริงพิจารณาก่อน) ถวายสื่อการเรียนการสอนธรรมะ ถวายหนังสือพระไตรปิฎก เป็นเจ้าภาพ หรือร่วมสนับสนุน อุปถัมภ์ค้ำจุนเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม การศึกษาเล่าเรียน เช่น ให้ทุนจัดฝึกอบรมการปฏิบัติธรรม สร้างวัด สถานปฏิบัติธรรม ให้ทุนการศึกษา พระสงฆ์ เณร นักเรียน นักศึกษาที่ดีมีศีลมีธรรม

ข้อควรปฏิบัติในการดำรงชีวิตในแต่ละวันเพื่อเพิ่มพลังบุญ

1. ตั้งใจรักษาศีล ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8
2. สวดมนต์ด้วยบทสวดต่างๆ อย่างน้อยที่สุดให้ได้ 1 บทสวด วันละครั้งก่อนนอน โดยเฉพาะบทสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ (อิติปิโส ฯ…)
3. นั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 15 นาที (หรือเดินจงกรมก็ได้)
4. แผ่เมตตา อุทิศบุญ ให้แก่เทพเทวดา เจ้ากรรมนายเวร บุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
5. อธิษฐานขอให้ผลบุญนี้ ไปเป็นพลังเพื่อความสำเร็จต่าง ๆ ดังที่เราปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นทางโลก หรือทางธรรม หรือทั้งทางโลกและทางธรรม
6. ทำทาน ให้ได้ในแต่ละวัน ทุก ๆ วัน ตามกำลัง เช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม หากไม่สะดวก ไม่มีโอกาสที่จะทำได้ทุกวัน ก็ให้นึกถึงเรื่องการให้ทานไว้ทุกวัน โดยตั้งจิตเจตนาไว้อยู่เสมอว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะไปทำทาน เช่น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุก ๆ วันอาทิตย์ ควรตั้งสัจจะไว้ ไม่ควรคิดว่า เอาไว้เมื่อมีความพร้อม มีเวลา มีโอกาสแล้วจึงจะไปทำ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว ส่วนมากจะหาโอกาสได้ยาก กิเลสมักหาข้ออ้างได้เสมอ

7. การอธิษฐานต่าง ๆ ให้ตั้งจิตมุ่งมั่นแน่วแน่ ปักลงไปในเป้าหมายอย่างแท้จริง ให้มั่นใจในพลังบุญของเรา มองเห็นภาพความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอน ไม่ลังเลสงสัย (ให้คิดบวกเสมอ) เมื่อผลสำเร็จยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งท้อแท้

นั่นเป็นเพราะองค์ประกอบของเหตุปัจจัยที่ทำลงไปยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ และในแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ให้ปฏิบัติต่อเนื่องต่อไป ช้าเร็วอย่างไรก็ต้องสำเร็จแน่นอน ยังไงก็ต้องได้เห็น บางทีความสำเร็จอาจมาโดยคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำไป และเมื่อสำเร็จแล้ว ก็ให้ทำต่อไป จะเป็นการเพิ่มพลังบุญของเราไปเรื่อยๆ หากยังต้องเวียน ว่าย ตายเกิด อยู่ในวัฏสังสารนี้ พลังบุญที่เราสะสมไว้นี้ ก็จะเป็นทุนรอนในภพชาติหน้าต่อไป

วิธีการเชื่อมบุญ และเคล็ดลับสำคัญ
หลังจากที่เราได้ทำบุญ บุญก็เกิดขึ้น และเมื่อบุญเกิดขึ้นแล้ว เรายังสามารถน้อมเอาผลบุญนั้น มาอุทิศให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นนั้นมีความสุขด้วย อีกทั้งยังเป็นการชดใช้หนี้เวร หนี้กรรม เศษเวร เศษกรรม ทั้งหลาย ที่เกิดจากบาปเวรอกุศลกรรมที่เราเคยสร้างไว้ เป็นผลให้เราได้รับวิบากกรรมชั่วต่าง ๆ นา ๆ (ที่เรามักเรียกว่ากันว่าเจ้ากรรมนายเวรนั่นเอง)

ต่อจากนั้นเราก็ตั้งจิตกล่าวอุทิศผลบุญทั้งหลายนี้ ให้กับบุคคลทั้งหลายที่เราปรารถนาจะอุทิศให้ แล้วจึงอธิษฐาน เพื่อให้บุญนั้นเกิดเป็นความสำเร็จในกิจการงานต่าง ๆ ตามที่เราได้ปรารถนา หรือตั้งเป้าหมายไว้ ส่วนการที่เราจะอุทิศบุญให้แก่ใคร บุคคลใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้น ในแง่ใด สถานการณ์ใด (รวมทั้งที่อยู่ในภพภูมิอื่น ๆ) แล้วจึงอุทิศเจาะจงไปให้ (การอุทิศบุญต้องเจาะจง)

ดังนั้น การเชื่อมบุญ และการพึ่งบุญ ก็เป็นการอุทิศบุญเจาะจงไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สุขและความสำเร็จ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายๆ สิ่งที่พึงปรารถนา หรือตั้งเป้าหมายไว้นั่นเอง

*** (ควรทำให้ได้ทุกวัน ในแต่ละวันที่ได้ทำบุญไป และควรทำบุญให้ครบส่วน ทั้งในส่วนของ ทาน ศีล ภาวนา กรณีไม่มีโอกาสได้ทำทานทุกวัน หรือคิดว่ายังไม่พร้อมเพียงพอในเรื่องทรัพย์ปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการทำบุญ ก็ให้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยหมั่นสะสมทรัพย์ไว้ ใช้วิธีหยอดเงินใส่กระปุกออมสินรวบรวมไว้ก็ได้ แล้วจึงนำไปทำทาน ถวายทาน ในแต่ละสัปดาห์ หรือตามโอกาส ควรทำบ่อยๆ และต่อเนื่อง จะทำให้จิตระลึกถึงบุญกุศลอยู่เสมอ และก่อให้เกิดผลสำเร็จตามที่ได้อธิษฐานไว้)

ขั้นตอนการอธิษฐาน และอุทิศบุญ

ให้ทำเบื้องหน้าพระพุทธรูป (โต๊ะหมู่บูชา หิ้งพระ ถ้าในที่พักไม่มี ก็ให้อยู่ให้ในสถานที่อันควร เป็นที่สงบ แล้วน้อมระลึกถึงพระคุณความดี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะคุณทั้งหลาย ) โดยก่อนอธิษฐาน ให้ไหว้พระสวดมนต์ก่อน และทำตามลำดับ ดังนี้

1. กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย (อะระหัง สัมมาฯ)
2. สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ (อิติปิโสฯ)
3. รับไตรสรณคมณ์ (พุทธัง สะระณัง คัจฉามิฯ)
4. สมาทานศีล
5. กล่าวคำอธิษฐาน และอุทิศบุญ (ตามตัวอย่าง)
6. กรวดน้ำ อุทิศบุญกุศล (ตอนที่เอาน้ำไปเท ให้เทลงที่พื้นดิน และก่อนเทน้ำ ให้ตั้งจิตบอกแม่พระธรณีว่า “ ขอแม่พระธรณีทรงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญบุญกุศลของลูกนี้ด้วยเถิด ” ก็เป็นอันเรียบร้อย เสร็จพิธี

หมายเหตุ โดยปกติทั่วไป เรามักทำบุญโดยนิยมถวายสังฆทานกัน เพราะหาโอกาสทำได้ง่าย และได้อานิสงส์มาก แต่ในกรณีที่เราไม่ได้ถวายสังฆทาน ก็สามารถประยุกต์ใช้คำอธิษฐานนี้ ในการทำบุญ ทำทานประเภทอื่น ๆ ชนิดอื่นๆ ในแต่ละครั้งได้ โดยปรับให้เหมาะสมตามสถานการณ์

แล้วน้อมนำผลบุญที่ได้กระทำไปแล้วนี้ อุทิศไปให้แก่บุคคลที่เราปรารถนาจะอุทิศให้ สำหรับการกรวดน้ำ ถ้าไม่มีอุปกรณ์(คนโทกรวดน้ำ) ก็ให้ใช้ขวดเล็ก ๆ ใส่น้ำ แล้วเทรินใส่แก้วก็ได้ เสร็จแล้วก็เอาน้ำไปเทที่พื้นดิน และเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว หากไม่มีโอกาสได้กรวดน้ำในตอนนั้น ณ สถานที่นั้น ก็ให้กลับมากรวดน้ำที่บ้านหรือที่พักก็ได้ และควรทำภายในวันนั้น การอธิษฐานและอุทิศบุญควรทำทุกวันที่ได้ถวายทาน หรือทุกวันที่ได้สร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้น

ธ.ธรรมรักษ์

แหล่งที่มา : http://palungjit.org