สร้างวัด “แค่พระพออยู่” แล้วหันมาสร้างโรงพยาบาลไม่ดีกว่าหรือ?

วันนี้เรามีแง่คิดดีๆ มาฝากคุณผู้อ่านทุกท่าน รับรองเลยว่าอ่านจบแล้วต้องกลับมาเหลียวมองการทำบุญของเราในทุกวันนี้

เนื้อความมีอยู่ว่า
#ท่านเคยคิดหรือมองมุมมุมนี้ไหมครับ#

วัดมีเงินเหลือร้อยล้านพันล้าน แต่โรงพยาบาลมี ”หนี้ร้อยล้าน”

เข้าโรงพยาบาลขอรับบริการฟรีๆดีๆ

เข้าวัด พระตีกระบาลแทบแตก บอกชอบ ต้องบริจาคเงิน ”ให้เยอะๆ”

หมอรักษาจนหาย “ดีใจรอดตาย”รีบกลับไปแก้บน สร้างวัด,สร้างวิหาร,ไหว้พระขอบคุณพระ

หมอรักษาไม่ไหว ไปไม่รอดตามวัฎสงสาร กลับด่าหมอ ด่าพยาบาล

ไม่ไปด่าเทวดาที่บนไว้

#มาคิดใหม่ ทำใหม่#

สร้างวัด สร้างวิหารแค่พระพออยู่

แล้วมาสร้างโรงพยาบาลที่ดี มีเครื่องมือแพทย์ทันสมัย

รักษาคนป่วยให้หายไวๆ

#ดีกว่าไหมครับ?

ทั้งนี้เรามาสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างการสร้างวัด สร้างโรงบาลปัญหาเรื่องที่ว่า การทำบุญให้โรงพยาบาล กับการทำบุญให้กับวัด อะไรดีกว่ากัน ?

เรามาถึงยุคที่คนไทยไม่เข้าใจกันเสียแล้ว ว่าการทำบุญบริจาคให้กับวัด ทำเพื่อประโยชน์อะไร ? ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีวัดหลายแห่งนำศรัทธามาขาย แต่ไม่ผูกโยงไว้ด้วยปัญญา เช่น สอนกันว่าเงินซื้อนิพพานได้ หรือไม่ก็เน้นกันที่เครื่องรางของขลัง พิธีกรรม สิ่งศักสิทธิ์ มีศรัทธาเป็นเหยื่อ แต่ไม่ใช้ปัญญา ทำให้คนไทยเริ่มห่างวัดมากขึ้น จนท้ายที่สุด คนไทยหลายคนอาจกลายเป็น “คนเกลียดวัด” ไปโดยปริยาย

ผนวกกับแนวคิดแบบสุดโต่งทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่อันประเสริฐในการช่วยรักษามนุษย์ให้หายขาดจากความ “เจ็บป่วย” จึงให้คุณค่าของโรงพยาบาลดูสูงส่งมากกว่าวัด ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า ทำบุญสร้างโบสถ์สร้างวัด กับทำบุญสร้างโรงพยาบาล อะไรดีกว่ากัน ?

ง่ายนิดเดียวสำหรับคำถามนี้ เราแค่ต้องขบคิดให้แตกฉานเสียก่อนว่า โรงพยาบาลมีความสามารถอะไรที่วัดไม่สามารถกระทำได้ และ วัดมีความสามารถอะไรที่โรงพยาบาลไม่สามารถกระทำได้บ้าง ?

โรงพยาบาล อาจรักษาคนที่ป่วยไข้ทางกายได้ แต่โรงพยาบาลไม่สามารถสมานแผลทางจิตใจได้ โรงพยาบาลไม่ได้ช่วยให้มนุษย์รู้จักละความโลภ โกรธ หลง เช่นเดียวกับที่วัดไม่สามารถรักษาโรคทางกาย ในเชิงวิทยาศาสตร์แบบที่โรงพยาบาลสามารถทำได้

โรงพยาบาลอาจยื้อชีวิตมนุษย์ให้ยืดยาวออกไป แต่โรงพยาบาลก็ไม่ได้บอกความจริงกับมนุษย์ว่า ร่างกายนี้เป็นของชั่วคราว ถ้าเราไปยึดมันมาเป็นของเราอย่างถาวร เราจะเป็นทุกข์…โรงพยาบาลไม่ได้บอกเราแบบนี้หน้าที่ของโรงพยาบาล คือ ทำยังไงให้ร่างกายนี้ยังคงทำงานต่อไปให้ได้นานและมีประสิทธิภาพที่สุด

วัด รักษา “โรค” ทางกายแบบโรงพยาบาลไม่ได้ แต่วัดช่วยเยียวยา “ความทุกข์” ในใจคนได้ ซึ่งวัด (ที่ดี) จะสอนให้คนไม่ยึดเอาอดีตที่เจ็บปวด มาเป็นธนูดอกที่สอง ซึ่งคอยทิ่มแทงเราก่อนนอนทุกคืน วัดไม่สามารถช่วยให้เราปราศจาก “โรค” แบบโรงพยาบาลได้ แต่วัดช่วยให้เราหมด “ภัย” ด้วยการรู้จักให้ “อภัย” ได้

ซึ่งแตกต่างจากโรงพยาบาลที่ช่วยให้เราหมด “โรค” แต่อาจไม่หมด “ภัย” อีกทั้งวัดยังช่วยให้เราเบิกบานจากการมีสติ ไม่เอาเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตมาเป็นบ่วงรัดคอตน

ทีนี้ ทำบุญบริจาคกับวัด หรือ ทำบุญบริจาคกับโรงพยาบาล ควรเลือกอย่างไหน ?

ตอบ : ควรเลือกทั้ง 2 อย่าง ถ้าเราลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะพบว่า สังคมเราต้องการทั้งโรงพยาบาลและวัด เราต้องการทั้งสถานที่ ๆ เยียวยาทั้ง “ร่างกายและจิตใจ”

พุทธองค์แสดงให้เราเห็นเป็นตัวอย่างโดยการถนอมร่างกายเอาไว้เพื่อทำคุณประโยชน์แก่โลก (พุทธเจ้าจึงไม่ดื่มเหล้า เสพของเมา และละทิ้งการทรมานตน) เราก็ควรจะเอาเยี่ยงอย่าง หากเราเจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาล มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เราก็รักษาร่างกายไปเพื่อหวังว่า จะมีพรุ่งนี้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อโลก ต่อผู้อื่น ได้ทำหน้าที่ ที่ยังค้างคาอยู่ ทั้งหน้าที่ของพ่อ แม่ สามี ภรรยา หน้าที่ของลูก และหน้าที่การงาน โดยไม่ต้องหวังที่จะหอบสังขารหนีจากความตาย เพราะมันเป็นไปไม่ได้

ในส่วนของ จิตใจ ที่พึ่งพิงอาศัยอยู่ในกาย ทั้งยังมีอำนาจอยู่เหนือกายด้วย “จิต/ใจ เป็นนาย กายเป็นบ่าว” ถ้ามนุษย์ไม่พึงพัฒนาให้มี จิต/ใจ ที่ดีงาม ปราณีต ชีวิตก็จะมีแต่กายที่เที่ยวทำตามแต่ตัณหา อันมีกิเลสเป็นเหยื่อล่อ โลกก็จะลุกเป็นไฟจากการเบียดเบียนกัน โดยหวังเพียงเพื่อแสวงหาความสุขนอกกายเป็นสำคัญ

ทีนี้บางคนอาจเถียงว่า “ชีวิตฉันไม่ต้องมีวัด จิตใจฉันก็ประเสริฐอยู่แล้ว” ก็ต้องบอกว่า ขออนุโมทนากับท่านที่เกิดพุทธิปัญญาแบบนี้ได้โดยไม่ต้องเข้าวัดหรือไม่ต้องศึกษาพระธรรม แต่อยากจะร้องขอให้ท่านมีความเมตตาต่อสัตว์โลก ที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามความทุกข์ไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้ แต่ละคนมีสติและปัญญาไม่เท่ากัน ได้โปรดเห็นใจและช่วยเหลือสัตว์โลกที่มีปัญญาไม่เท่าพวกท่านด้วย “ท่านอาจไม่ต้องการวัด แต่คนอื่น ๆ อาจต้องการวัด”

ท้ายที่สุดคงต้องมองดูการบริจาคด้วย ‘สติ’ และ ‘ปัญญา’ โดยคำว่า “บริจาค” มาจากคำว่า ‘ปริจจาคะ’ หมายถึงการเสียสละ แต่ถ้าจะพูดให้แลดูไม่ถูกเอาเปรียบนัก อาจต้องใช้คำว่า “เผื่อแผ่” และก็คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราจะเผื่อแผ่อะไรบางอย่างในชีวิตของเรา เพื่อต่ออายุทางกายให้กับผู้อื่น และช่วยเยียวยาความทุกข์ในใจของผู้อื่นได้ด้วย ….คุณว่าจริงไหม ?

#ปลง

ขอขอบคุณ: newsface7.com / kasettoday.com