NFT คืออะไร เหมือนกับการเล่นคริปโตหรือไม่ แล้วทำไม NFT หรือ Crypto Art ถึงสามารถทำเงินได้เป็นหลักแสน หลักล้าน ลองมาทำความเข้าใจกันหน่อย
NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token เป็นชื่อเรียกของ Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ต่อให้มีการก๊อบปี้ไป แต่ต้นฉบับของจริงจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนโทเคน NFT ก็เป็นเหมือนโฉนด เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนี้
ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ NFT จึงอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่น ผลงานศิลปะ หรือที่เรียกว่า Crypto Art ภาพถ่าย ภาพ Meme เพลง วิดีโอ ของสะสม การ์ดเกม กีฬา การ์ตูน รวมทั้งงานแฟชั่นด้วย พูดง่าย ๆ ว่าอะไรก็ตามที่เป็นเอกลักษณ์ชิ้นเดียวในโลกก็สามารถนำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบ NFT ได้ทั้งสิ้น
1. NFT แต่ละเหรียญมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทดแทนกันไม่ได้
NFT เป็นสินทรัพย์ที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่สามารถนำ NFT หรือโทเคนอื่นมาทดแทนได้ ต่างจากเงินจริง ๆ หรือ Cryptocurrency ที่เป็น Fungible Token คือ ทุกเหรียญในสกุลเงินนั้นไม่มีความแตกต่างกัน สามารถใช้ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนแทนกันได้หมด
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนขอยืมเงิน 100 บาท เราให้แบงก์ร้อยไป เมื่อเพื่อนนำเงินมาคืน ก็ไม่จำเป็นต้องเอาแบงก์ร้อยใบเดิมมาคืนก็ได้ จะนำเหรียญห้า เหรียญสิบ แบงก์ยี่สิบ แบงก์ห้าสิบ หรือแบงก์ร้อยใบอื่นมาคืนก็ไม่มีใครว่า เพราะมีมูลค่าเท่ากัน สามารถใช้ทดแทนกันได้
ส่วน NFT ก็เหมือนกับงานศิลปะ ถ้าเราตั้งใจจะซื้อภาพนี้ ก็ต้องได้โทเคนของภาพนี้เท่านั้น จะเอาโทเคนอื่นมาให้แทนไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนละภาพกัน
2. NFT ใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าไม่ได้
เราสามารถนำ Cryptocurrency ไปใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม หรือนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ใช้แทนเงินสดได้ในร้านค้าหรือบริการที่รับชำระด้วยเหรียญดิจิทัล เช่น นำอีเธอเรียม (Ethereum) ไปจ่ายค่าอาหาร, ใช้บิตคอยน์ซื้อรถยนต์ เป็นต้น
แต่สำหรับ NFT จะไม่สามารถนำไปใช้ซื้อ-ขายสินค้าอื่นได้เลย นอกจากจะนำตัว NFT ออกมาขายเอง
3. ต้องซื้อ-ขาย NFT แบบเต็มหน่วยเท่านั้น
หากเราสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ คลิปวิดีโอ ของสะสม เสื้อผ้า แสตมป์ การ์ดเกม ฯลฯ ที่ถือเป็นของชิ้นเดียวในโลก เป็นลิขสิทธิ์ของเราเอง ก็สามารถแปลงผลงานเหล่านั้นให้อยู่บนออนไลน์ในรูปแบบโทเคน NFT จากนั้นนำ NFT ไปขายต่อและโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง เพราะทำผ่านระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ทุกธุรกรรมสามารถตรวจสอบได้ และแทบจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลไม่ได้เลย และแม้ว่าผลงานจะถูกขายต่อ เปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีใครเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลงานชิ้นนี้มาแล้วบ้าง
นอกจากนี้เรายังสามารถนำ NFT ออกประมูลได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแรร์ไอเทมก็จะดึงดูดให้คนอยากได้และต้องสู้ราคากัน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายเท่า ใครชนะการประมูลก็จะได้รับโทเคนในการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนั้น
Disaster Girl : ราคา 15.4 ล้านบาท
ทวีตแรกของโลก : ราคา 90 ล้านบาท
CryptoPunk : ราคา 385 ล้านบาท
CryptoPunk เป็นคอลเล็กชั่นภาพสไตล์ Pixel Art ลักษณะต่าง ๆ ทั้งหมด 10,000 ตัว นับเป็น NFT ที่นักสะสมต้องการครอบครองอย่างที่สุด จนดันมูลค่าพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในทุกภาพที่ออกประมูล โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละประมาณ 100,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่สถิติที่แพงที่สุดในปี 2564 คือ ภาพเอเลี่ยนสวมหน้ากากอนามัย CryptoPunk #7523 ที่ถูกประมูลไปด้วยราคา 11.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 385 ล้านบาท
Everydays : The First 5000 Days : ราคา 2.2 พันล้านบาท
ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่น
หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ
เนื้อเพลงของติ๊ก ชีโร่
1. สร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)
2. เปิดบัญชีซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี
3. ซื้อเหรียญ ETH แล้วโอนไปไว้ใน Wallet
ในการซื้อ-ขาย NFT
ส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินอีเธอเรียม (Ethereum : ETH)
จึงต้องมีเงินสกุลนี้เก็บไว้ใน Wallet ของเราด้วย วิธีซื้อเหรียญ ETH
ก็ไม่ยาก คล้ายกับการซื้อหุ้น คือ
- ฝากเงินบาทเข้ามาในบัญชีซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซีที่เปิดไว้กับ Exchange
- เข้าไปที่ตลาดซื้อ-ขายเงินดิจิทัล ในเว็บไซต์ของ Exchange นั้น แล้วตั้งราคาที่เราต้องการจะซื้อเหรียญ ETH
- เมื่อมีคนขายเหรียญ ETH ในราคาที่ตรงกับคำสั่งซื้อของเรา เหรียญ ETH ก็จะถูกโอนมาเก็บไว้ในบัญชีโดยอัตโนมัติ
- จากนั้นเราต้องโอนเหรียญ ETH จากบัญชี Exchange ไปยัง Wallet ของเราอีกที ซึ่งตรงนี้แต่ละเว็บจะมีค่าธรรมเนียมการโอนไม่เท่ากัน และต้องใส่ที่อยู่ของกระเป๋าเงิน (Address) ให้ถูกต้อง เพราะถ้าใส่ที่อยู่ผิด เงิน ETH จะไปเข้ากระเป๋าอื่น และไม่สามารถนำเงินกลับมาได้อีก
4. เตรียมผลงาน NFT
5. อัปโหลดผลงานใน NFT Marketplace
NFT Marketplace
หรือตลาดซื้อ-ขายงาน NFT มีอยู่หลายเว็บไซต์ ที่ดังในหมู่นักสะสมก็คือ
OpenSea, Rarible, Foundation.app, SuperRare ฯลฯ โดยการขายผลงาน NFT
ก็จะมีขั้นตอนคล้าย ๆ กัน ดังนี้
- เชื่อมต่อ Wallet ของเรากับเว็บไซต์ตลาดซื้อ-ขาย NFT
ซึ่งในกระเป๋าเงินของเราต้องมีเงินดิจิทัลสกุลเดียวกับที่ตลาดใช้
เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม หรือที่เรียกว่า Gas Fee
โดยเว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะรับสกุลเงิน ETH
- อัปโหลดไฟล์งานลงในเว็บไซต์เพื่อขาย พร้อมตั้งราคาเป็นสกุลเงินดิจิทัล
- ผลงานที่อัปโหลดแล้วจะอยู่ในรูปแบบ NFT และตั้งขายอยู่บนเว็บไซต์ให้ผู้สนใจเข้ามาเลือกซื้อ
- เราสามารถนำลิงก์ไปโพสต์โฆษณาตามโซเชียลของตัวเอง หรือช่องทางต่าง ๆ ได้
- กรณีมีคนซื้อผลงานของเรา เงินคริปโตที่ขายได้หลังหักค่าธรรมเนียมจะถูกโอนเข้ามาใน Wallet อัตโนมัติ
ส่วนคนที่ต้องการซื้อผลงานเก็บสะสมก็สามารถเลือกดูงานผ่านเว็บไซต์นั้น ๆ โดยสามารถซื้อได้ในราคาไม่เกินวงเงินใน Wallet
อย่างไรก็ตาม ต้องทราบว่าการซื้อ-ขายผลงาน NFT จะเสียค่าบริการต่าง ๆ ให้เว็บไซต์ รวมทั้งค่าธรรมเนียม Gas Fee ด้วย ซึ่งราคา Gas Fee จะขึ้น-ลงตลอดเวลา และแต่ละเว็บไซต์ก็มีเรต Gas Fee ไม่เท่ากัน รวม ๆ แล้วราคาค่าธรรมเนียมทั้งหมดอาจจะแพงกว่าตัวผลงานอีกก็ได้ ดังนั้นต้องคำนวณเรื่องราคาที่จะซื้อ-ขายให้ดี
ผู้ซื้อผลงาน NFT ต้องทำความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน
เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และสิ่งที่ควรรู้ก็คือ
- NFT คือการแสดงสิทธิการเป็นเจ้าของเหรียญดิจิทัลเท่านั้น
ไม่ใช่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงาน ดังนั้นแม้เราจะซื้อ NFT มาแล้ว
แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ยังเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานออกมา
เว้นแต่จะมีการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน
- การซื้อผลงาน NFT
ต้องทำความเข้าใจสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement)
หรือข้อกำหนดต่าง ๆ (Terms of Use)
ว่าเรามีสิทธิ์ในผลงานที่ซื้อมามากน้อยแค่ไหน เช่น NFT
บางเหรียญอาจกำหนดเงื่อนไขในลักษณะต่อไปนี้
- ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
- ไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อนำไปทำซ้ำ แก้ไข ดัดแปลง ตัดต่อ
- อนุญาตให้ผู้ซื้อนำไปขายต่อได้ แต่เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่มีการขายเปลี่ยนมือ เป็นต้น
- หากผู้ซื้อทำผิดเงื่อนไขจะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นก่อนจะนำผลงานที่ซื้อมาไปทำอะไร อย่าลืมตรวจสอบให้ชัดเจนว่าตัวเองมีสิทธิ์จริงหรือไม่
การถูกแอบอ้างเป็นเจ้าของผลงาน
สำหรับเจ้าของผลงาน
นี่คือปัญหาที่พบบ่อยทั้งการซื้อ-ขายในตลาดจริง หรือในโลก NFT อย่างเช่น
การนำผลงานของศิลปินตัวจริงไปก๊อบปี้ แล้วโพสต์ขายใน NFT
หรือนำไอเดียของศิลปินมาดัดแปลงเพื่อสร้างผลงานขายใน NFT
ซี่งหากเกิดปัญหานี้ขึ้น การดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อาจทำได้ยาก
เนื่องจากต้องสืบหาตัวผู้กระทำผิดซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกับเจ้าของลิขสิทธิ์
ความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์
ผู้ที่สนใจประมูล NFT มีทั้งนักสะสมและนักลงทุนเก็งกำไร
จึงต้องช่วงชิงกันอย่างหนัก โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เป็นของคนดัง
หรือมีความพิเศษไม่เหมือนใคร ส่งผลให้ราคาขยับสูงเกินจริงไปมาก
แต่หากวันใดที่ความนิยมในสินทรัพย์ชิ้นนั้นลดลงหรือถึงจุดอิ่มตัว
ก็มีโอกาสที่ราคาจะตกอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนขาดทุนได้เช่นกัน
ความเสี่ยงที่สินทรัพย์สูญหาย
ข้อดีของ NFT ที่หลายคนพูดกันก็คือ เราไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บรักษาสินทรัพย์ เหมือนกับชิ้นงานจริง ๆ ที่อาจสูญหายหรือเสียหายได้ แต่หากมองอีกมุม NFT ก็มีโอกาสสูญหายได้เช่นกัน ในกรณีที่เราลืม Private Key หรือรหัสผ่านจนไม่สามารถเข้าระบบได้ หรือเกิดแพลตฟอร์มนั้นปิดตัวลงในวันข้างหน้า แล้วเราจะสามารถเข้าถึงไฟล์งาน NFT ที่เราซื้อมาเก็บไว้ได้อย่างไร รวมทั้งปัญหาแฮกเกอร์ที่อาจขโมย Private Key ของเราไปใช้เข้าระบบเองด้วย
แม้ NFT จะได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ จนดันให้ราคา ETH พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่ได้อนุญาตให้ซื้อ-ขายได้อย่างถูกกฎหมาย อ้างอิงจากประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ห้ามศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อ-ขาย "Utility Token พร้อมใช้" หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
1. Meme Token เหรียญที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับ ราคาจะขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล
2. Fan Token เป็นเหรียญที่จะได้รับเมื่อติดตามและร่วมกิจกรรมของเหล่าคนดัง อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ทั้งหลาย และสามารถนำเหรียญไปใช้แลกซื้อหรือประมูลของสะสมในรูปแบบ NFT และอื่น ๆ ได้
3. Non-Fungible Token : NFT เหรียญที่แสดงสิทธิ์ในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง และไม่สามารถใช้เหรียญประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้
4. เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อ-ขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อ-ขาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (Blockchain)
นั่นจึงทำให้ศิลปินและนักลงทุนในประเทศต้องนำผลงานออกไปซื้อ-ขายที่ตลาด NFT ในต่างประเทศแทน อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแส NFT ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ที่ในอนาคต ก.ล.ต. อาจพิจารณาไฟเขียวในเรื่องนี้ โดยมีการออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลเพิ่มเติม ซึ่งก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไป