ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร รู้ไว้ดีกว่าลดเสี่ยงอุบัติเหตุ

ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร รู้ไว้ดีกว่าลดเสี่ยงอุบัติเหตุ​ ​กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างเดินบนถนน

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และเคลื่อนตัวช้า บ่อยครั้งมักพบเห็นช้างเดินตามท้องถนน โดยเฉพาะเส้นทางในเขตอุทยาน หรือเทือกเขาสูง ซึ่งการปฏิบัติอย่างผิดวิธีอาจทำให้ช้างตื่นตกใจและเข้ามาทำร้าย ก่อให้เกิดอันตรายได้

          เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างบนถนน ดังนี้


ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร

ภาพจาก 895_The_Studio / Shutterstock, Inc.


ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร

          ​- ​หยุดรถให้ห่างจากช้างในระยะไม่ต่ำกว่า​ 30–50 เมตร
          - หากช้างเดินเข้าหาให้ขับรถถอยหลังอย่างช้า ๆ รอจนช้างเดินพ้นถนนไปสักระยะ จึงค่อยขับรถไปต่อ
          - ห้ามดับเครื่องยนต์อย่างเด็ดขาด เพราะหากช้างเข้ามาทำอันตรายจะขับรถหนีไม่ทัน อีกทั้งช้างจะเข้ามาใกล้รถมากขึ้น และใช้งวงเกี่ยวหรือใช้เท้าเตะรถ ทำให้ได้รับอันตรายมากขึ้น
          - ไม่บีบแตรรถหรือส่งเสียงดัง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธและเข้ามาทำอันตรายได้
          - ไม่ลงจากรถไปถ่ายรูปกับช้างในระยะใกล้ เพราะหากช้างเข้ามาทำร้ายจะหนีขึ้นรถไม่ทัน
          - งดใช้แฟลชในการถ่ายรูปช้าง เพราะจะทำให้ช้างตกใจและเข้ามาทำอันตรายได้

ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร

ขับรถเจอช้างต้องทำอย่างไร

กรณีพบช้างในเวลากลางคืน

          - หากรถอยู่ห่างจากช้างมากกว่า 50 เมตร ควรเปิดไฟสูงเพื่อให้ช้างเดินหลบเข้าข้างทาง หากเข้าใกล้ช้างในระยะที่มากกว่านี้ แสงไฟจะส่องเข้าตาช้าง ทำให้ช้างตื่นตกใจได้
          - เปิดไฟรถทิ้งไว้ จะช่วยให้สังเกตเห็นอาการของช้าง และระยะห่างระหว่างรถกับช้าง
          - ไม่ปิดไฟและดับเครื่องยนต์ ให้ค่อย ๆ เคลื่อนรถ โดยให้รอบเครื่องยนต์เดินเบาที่สุด
          - ห้ามกะพริบไฟ เพราะแสงไฟจะส่องเข้าตาช้าง ทำให้ช้างตื่นตกใจได้
          - กรณีอยู่ในวงล้อมของโขลงช้างให้ขับรถออกจากวงล้อมของโขลงช้างอย่างช้า ๆ โดยให้รอบเครื่องยนต์เดินเบาที่สุด ไม่เร่งเครื่องยนต์เพราะอาจทำให้ช้างตื่นตกใจและเข้ามาทำร้ายได้

          ทั้งนี้การเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อพบเห็นช้างเดินผ่านหน้ารถอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย
ข​อขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย