“พลาสติก” ใช้ไม่ถูก เสี่ยงมะเร็ง

ดูเหมือนว่า “พลาสติก” จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทยกันไปแล้ว เพราะแทบทุกหนทุกแห่ง มีของที่ทำจากพลาสติกตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบกันเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพลาสติกเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่หาซื้อได้ง่าย มีราคาไม่แพงมาก และมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ แต่คุณรู้ไหมว่า!...พลาสติกใกล้ตัวอย่างขวดใส่น้ำ หลอดดูด ชาม โฟม ฯลฯ ที่เราใช้กันมากในชีวิตประจำวัน กลับเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่ซ่อนเร้นตัว เพื่อรอเวลาที่จะหลั่งไหลเข้าไปทำอันตรายให้กับร่างกายของเรา

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าประเภทของพลาสติกที่ผลิตกันอยู่ทุกวันนี้ที่แบ่งออกได้ 7 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วยอะไรกันบ้าง...ชนิดที่ 1 เป็น พีอีทีอี (PETE) ชื่อเต็ม คือ polyethylene terephthalate ethylene เป็นพลาสติกใสใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด และ อาหารบางชนิด ชนิดที่ 2 เป็น เอชดีพีอี (HDPE) ชื่อเต็มคือ high density polyethylene เป็นพลาสติกสีทึบ ใช้บรรจุนมสด น้ำดื่ม น้ำยาฟอกขาว น้ำยาซักผ้า แชมพู ขวดยา และถุงพลาสติก

ส่วนชนิดที่ 3 เป็นพีวีซี (PVC) เป็นชื่อย่อของ polyvinyl chloride ใช้เป็นพลาสติกสำหรับห่อหุ้ม เชือกพลาสติก เป็นขวดบรรจุชนิดบีบ มักจะใช้บรรจุน้ำมันพืช น้ำมันซักผ้า น้ำยาเช็ดกระจก ที่ใช้กันมากคือ ถุงหิ้วที่ใช้ใส่ของกันตามร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ชนิดที่ 4 คือ แอลดีพีอี (LDPE) ชื่อเต็มคือ low density polyethylene ใช้เป็นถุงหิ้ว ใช้ห่อหุ้ม ขวดพลาสติกบางชนิด และที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ ถุงเย็นใส่อาหาร ขนม กาแฟเย็น ชาเย็น ชนิดที่ 5 เป็นพีพี (PP) ชื่อเต็มคือ polypropylene ใช้เป็นยางลบ ใช้ บรรจุภาชนะไซรัป โยเกิร์ต หลอดดูด ขวดนมเด็ก ถุงร้อนใช้สำหรับบรรจุอาหารร้อน เช่น ก๋วยเตี๋ยว กาแฟร้อน เป็นถ้วยกาแฟ ชา ชนิดใช้แล้วทิ้ง

สำหรับชนิดที่ 6 เป็นโพลีสไตรีน (Polystyrene) เป็นพลาสติกที่ใช้เรียกทั่วไปว่าโฟม ใช้บรรจุรองรับการกระแทกพวกอุปกรณ์ ตู้เย็น วิทยุ วิทยุ โทรทัศน์ฯลฯ ในกล่องกระดาษอีกที ใช้ทำกล่องสำหรับบรรจุอาหารที่เรียกว่า ข้าวกล่อง ที่ใส่ไข่ ถ้วยที่ใช้แล้วทิ้ง ช้อน ส้อม มีดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ชนิดที่ 7 เป็นชนิดอื่นๆ เช่น พอลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate) ทำเป็นขวดน้ำ เหยือกน้ำ ขวดนม ขวดน้ำบรรจุ 5 ลิตร ขวดน้ำนักกีฬา ใช้บุกระป๋องโลหะสำหรับใส่อาหาร เป็นถ้วยใส ช้อนส้อม มีดชนิดใส
 plastic-bottle-2
พลาสติกทั้ง 7 ชนิดได้ผ่านกระบวนการผลิตโดยใช้สารเคมี เพื่อใช้งานตามประเภทต่าง ๆ ที่ระบุข้างต้น แต่ปรากฏว่าผู้บริโภคกลับใช้งานพลาสติกไปในทางที่ผิดหรือไม่ถูกวิธี ส่งผลทำให้สารพิษซึมเข้าสู่ร่างกาย!

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเสียงเตือนออกมาจาก นายประกาย บริบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการนำพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำดื่มมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งว่า แม้ขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้จะมีความคงทนแข็งแรงกว่าขวดพลาสติกประเภทอื่นๆ แต่การนำกลับมาล้างใช้ใหม่ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างทำความสะอาดขวดเพทที่มีรูปทรงหรือร่องที่เป็นลวดลายสวยงามของขวด ที่ทำความสะอาดยากและไม่สะอาดพอจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี ถ้าสังเกตว่าขวดน้ำที่ผ่านการล้างและใช้ซ้ำนานๆ มีรอยร้าว บุบ แตก มีสีที่เปลี่ยนไป ขุ่นหรือมีคราบเหลืองให้ทิ้งทันที

หากเก็บพลาสติกชนิดนี้ไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อขวดน้ำพลาสติก ถูกแสงแดดหรือความร้อนเป็นเวลานาน ทำให้สารเคมีบนขวดพลาสติกสลายตัว ละลายปนในน้ำดื่ม หรือหากวางน้ำดื่มไว้ใกล้สารเคมี วัตถุอันตราย หรือผงซักฟอก ก็จะส่งผลให้น้ำในขวดพลาสติกดูดกลิ่นสารเคมีเข้าไปได้ ทำให้มีกลิ่นไม่ชวนดื่ม และมีโอกาสที่สารนั้นอาจปนเปื้อนสู่น้ำดื่ม ซึ่งเราก็จะได้รับสารเคมีนั้นไปด้วย

จากการที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกไม่ถูกวิธีนี่เอง ที่ส่งผลให้ขณะนี้มะเร็งเต้านมในเพศชายมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วพบว่า 1 ใน 100 คนเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เนื่องจากชายไทยส่วนใหญ่นิยมดื่มน้ำจากขวดพลาสติกมากขึ้น เพราะนอกจากจะสะดวกแล้วยังสามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้ ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจและขาดคำแนะนำ จนทำให้สารก่อมะเร็ง ซึ่งทางวิทยาศาสตร์มีชื่อว่าสารซีโนเอสโตรเจนแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว!

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ทั้งในสหรัฐและอังกฤษที่ต่างระบุตรงกันว่า สารเคมีในพลาสติกบรรจุอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวาน โรคไตบางชนิด และยังเป็นอันตรายต่อการพัฒนาต่อมลูกหมากและสมอง รวมถึงยังทำให้ทารกในครรภ์ เด็กเล็กและเด็กโตมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอีกด้วย ซึ่งสารที่ว่านี้ มีชื่อว่า “สารบิสฟีนอล เอ” หรือ บีพีเอ นั่นเอง

foam-box
ไม่เพียงแต่ขวดน้ำเท่านั้น...ใครจะรู้บ้างว่า “โฟม” ที่ห่ออาหารมื้ออร่อยของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจะเต็มไปด้วยอันตราย! จากการสำรวจวิจัยภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ได้มาตรฐานทุกตัวอย่าง และจากการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ประเภทโฟมที่ใส่อาหารที่ผู้ผลิตนำมาตรวจวิเคราะห์เพื่อการรับรองสินค้า ก็พบว่ามีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
แต่ในส่วนของการใช้งานนั้นกลับพบว่า มีการนำภาชนะโฟมไปใช้ไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากผู้ซื้อ ผู้ขายไม่มีใครรู้ว่าโฟมใส่อาหาร ไม่ทนต่อความร้อน ถ้าพ่อค้าแม่ขายไม่รองใบตองหรือถุงร้อนทั้งด้านบนและล่างโฟมก่อนวางอาหาร เมื่อถูกความมันจากอาหาร สารเคมีจะละลายได้ง่ายขึ้นและออกมาปนเปื้อนกับอาหาร หากรับประทานสะสมเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายถูกทำลาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสมอง ระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับ ไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ในที่สุด

plastic-bag
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง “ถุงพลาสติก” ที่ใช้ใส่อาหารก็อันตรายเช่นกัน หากใช้ไม่ถูกประเภท เพราะถุงพลาสติกมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ประกอบด้วย

แบบแรกถุงร้อน ซึ่งมีลักษณะใสมาก ผิวกระด้างกว่าถุงเย็น ไม่ยืดหยุ่น เหมาะสำหรับการบรรจุของร้อนและอาหารที่มีไขมัน ทนความร้อนได้ถึง 100-120 องศาเซลเซียส และถุงร้อนชนิดความหนาแน่นสูงแต่สีถุงมีลักษณะบางขุ่น

แบบที่สอง คือ ถุงเย็น ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างใสนิ่ม ยืดหยุ่นพอสมควร เหมาะสำหรับใช้บรรจุอาหารแช่แข็ง ทนความเย็นได้ถึง 70 องศาเซลเซียส แต่ทนความร้อนได้ไม่มาก

และแบบสุดท้าย คือ ถุงหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บ ถุงชนิดนี้ไม่ปลอดภัยต่อการบรรจุอาหารทุกชนิด แต่คนส่วนใหญ่กลับนำมาใส่อาหารโดยเฉพาะกล้วยแขก ปาท่องโก๋ ฯลฯ เพราะถึงแม้จะมีกระดาษรองอีกชั้น แต่สารโลหะหนักก็มีโอกาสที่จะละลายออกมาปนเปื้อนได้
         
อย่างไรก็ตาม อันตรายจากพลาสติกชนิดต่างๆ ก็สามารถป้องกันได้ วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้นำวิธีหนีให้ไกลมัจจุราชเงียบในพลาสติกมาฝากกันค่ะ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วแทนพลาสติก อาทิ ขวดแก้ว จานหรือชามกระเบื้อง หม้อกระเบื้องเคลือบ หรือจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุอินทรีย์แทนพลาสติก อาทิ ใบตอง ห่อผัดไทยใช้เชือกกล้วยผูกหิ้ว ส่วนใครที่หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกไม่พ้น ก็ไม่ควรทิ้งขวดน้ำพลาสติกไว้ในรถ และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ อย่าใช้ความร้อนสูงหรือใช้ความเย็นจัดกับภาชนะพลาสติก อาทิ เอาไปใส่ในไมโครเวฟหรือใส่ไว้ในช่องแช่แข็ง อย่าให้ภาชนะกระทบกระแทก หรือขูดขีดมาก ระวังไม่ให้เด็กอมขวดหรือกัดพลาสติกเล่น และในแต่ละวันควรจำกัดการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกไว้ไม่ให้มากจนเกินไป
เพียงแค่เราทำความเข้าใจกับพลาสติกแต่ละชนิด และรู้จักที่จะระวังตัวเองด้วยการใช้พลาสติกอย่างรู้เท่าทัน หรือหลีกเลี่ยงไปใช้วัสดุที่เป็นแก้วแทนก็จะปลอดภัยกว่า อย่าลืมว่า...ความประมาทเพียงแค่นิดเดียว อาจทำให้ร่างกายคุณสะสมสารเคมีจนก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา กว่าคุณจะรู้ตัวอีกที ก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้แล้ว ดังนั้น ป้องกันไว้ ย่อมดีกว่าแก้ค่ะ…^^