เกษตรฯสั่งตรวจสอบความต้องการทุเรียนตลาดในประเทศและต่างประเทศ ห่วงหายนะซ้ำรอยยางพารา กำหนดโควต้าพื้นที่ปลูกให้สมดุล

รมว.เกษตรฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความต้องการผลผลิตทุเรียนของทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ห่วงประสบปัญหาเช่นเดียวกับยางพารา ที่เมื่อราคาดีจึงขยายการปลูกไปทั่วประเทศ ผลผลิตล้น จนราคาตกต่ำ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งร่วมกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) สำรวจข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด พยากรณ์สินค้า 4 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง และตราดพบว่า ในปี 2562 พื้นที่ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิดมี 691,521 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 13,318 ไร่ หรือร้อยละ 1.96 โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.57 เงาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 มังคุดลดลงร้อยละ 0.15 และลองกองลดลงร้อยละ 3.45 ซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตผลไม้ทั้ง 4 ชนิดจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต้นมีเวลาพักสะสมอาหารนาน

นายกฤษฏากล่าวต่อว่า ทุเรียนซึ่งได้ชื่อว่า เป็น “ราชาแห่งผลไม้” เฉพาะในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.49 ใน 2 ปีนี้ราคาดี ขายจากสวนเฉลี่ยกิโลกรัมละกว่า 100 บาท เกษตรกรโค่นไม้ผลอื่นเพื่อปลูกทุเรียนทั่วประเทศ อีกประมาณ 4 -5 ปีข้างหน้า ทุเรียนที่ปลูกใหม่จะให้ผลผลิตจึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสำรวจพื้นที่ปลูกจริงในปัจจุบัน เนื่องจากเกรงว่า จะประสบปัญหาเดียวกับยางพาราซึ่งหลายปีก่อน ราคาสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เกษตรกรขยายการปลูกจากเดิมที่มีเฉพาะภาคใต้ กระจายไปทุกภาค จนผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำต่อเนื่อง

“จะนำผลการสำรวจความต้องการของตลาดและพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งที่ให้ผลผลิตแล้วและจะให้ผลผลิตในอนาคตมาวางแผนการผลิต คำนวณว่า ผลผลิตทุเรียนต่อปีควรมีเท่าไร เพื่อกำหนดโควตาการปลูกให้เหมาะสม หากคาดการณ์ได้ว่า พื้นที่ปลูกสมดุลกับความต้องการของตลาดแล้ว จะส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจอื่น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะจัดทำระบบฐานข้อมูลเกษตรกรรม (Agriculture Big Data) เพื่อใช้วางแผนการผลิตภาคเกษตรกรรมทุกชนิด” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพ รณรงค์ไม่ตัดทุเรียนอ่อนขาย หาตลาดให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเช่น สหกรณ์การเกษตรในจังหวัดจันทบุรีได้ลงนามข้อตกลงจำหน่ายทุเรียนซึ่งได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มาตรฐาน GAP แก่กลุ่มห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) หลายแห่ง รวมถึงส่งเสริมการทำตลาดแบบออนไลน์ สั่งจองล่วงหน้า แล้วส่งให้ผู้บริโภคโดยตรง จึงทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ราคาดี ซึ่งได้สั่งการให้นำแนวทางนี้ไปดำเนินการกับไม้ผลอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลเช่นเดียวกัน

ขอบคุณที่มา:matichon.co.th

cr.ภาพ:สวนทุเรียนแลนด์ จันทบุรี