“ราชาแห่งการถอนพิษ” สุดยอดสมุนไพรที่ใช้กันมาแต่โบราณ
รางจืด เป็นพืชที่รู้จักกันดีในจำนวนพืชที่สามารถแก้พิษ
และกำจัดสารพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้ขื่อว่าเป็น
“ราชาแห่งการถอนพิษ” นอกจากนั้น
คนโบราณยังนิยมใช้สำหรับแก้พิษจากสัตว์ต่างๆ
มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ อาทิ ไทย และพม่า
บ้านเราพบมากตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสรรพคุณเด่นในการขจัดพิษต่างๆ ทั้งพิษจากพืช
พิษจากสัตว์ และพิษจากสารเคมี จึงนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป
ลำต้น จะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5
เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10
เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล
เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน
หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม
ใบออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา ก้านยาว 2-4 เซนติเมตร
รูปหัวใจแหลม โคนมน ปลายแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย กว้าง 4-8 เซนติเมตร
ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบใหญ่จะอยู่โคนก้าน และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา
ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบเรียบ ด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่างมีขน มีเส้นใบมี 3
เส้น เป็นร่องตื้น ยาวจากโคนใบมาปลายใบ 2 เส้น และอีก 1 เส้นใบอยู่กลางใบ
ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ
ดอกออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน
มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร
ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาด 5-10 เซนติเมตร
ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ผลออกเป็นฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป ทรงกลมเป็นหลอด
กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม
และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว
เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก
มีเมล็ดด้านในสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน
ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน
สรรพคุณของรางจืด
1. รากและเถาของรางจืดสามารถใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, เถา)
2. รางจืดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, เถา)
3. ใบและรากของรางจืดมีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ได้ (ใบ, ราก)
4. ใบรางจืดมีสรรพคุณใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ, ราก)
5. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ, ราก)
6. ว่านรางจืดมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการผื่นแพ้ต่าง ๆ (ใบ, ราก)
7. ช่วยทำลายพิษจากยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า
ซึ่งจัดเป็นสารพิษที่ร้ายกาจที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
ก็สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้เลย
เพราะสารพิษชนิดนี้จะไปทำให้เกิดการสร้างออกซิเจนที่ไม่เสถียรขึ้นมา
ซึ่งออกซิเจนเหล่านี้จะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์และทำให้เซลล์ตาย
โดยสารพิษพาราควอตนั้นจะอันตรายที่สุด
เพราะจะไปทำให้เนื้อเยื่อในปอดถูกทำลายจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้และเสียชีวิตในที่สุด
ซึ่งจากรายงานของโรงพยาบาลศิริราชพบว่าผู้ที่ได้รับสารพิษพาราควอตจะเสียชีวิตทุกราย
(อันตราการเสียชีวิตประมาณ 80%)
ซึ่งแน่นอนว่ารางจืดสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
แต่ต้องรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย ส่วนงานศึกษาวิจัยของอาจารย์พาณี
เตชะเสน และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พบว่าการใช้น้ำคั้นจากใบรางจืดป้อนให้หนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง “โฟลิดอล”
พบว่ามันสามารถช่วยแก้พิษได้ โดยช่วยลดอัตราการตายลงเยอะมากจาก 56%
เหลือเพียง 5% เท่านั้น และจากงานวิจัยของคุณสุชาสินี คงกระพันธ์
ที่ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดแห้งจากใบรางจืดป้อนให้หนูทดลองที่รับยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตที่มีชื่อว่า
“มาลาไธออน” พบว่ามันสามารถช่วยชีวิตหนูทดลองได้มากถึง 30% (ใบ, ราก)
8. ช่วยแก้พิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชที่เป็นพิษ เช่น
แก้พิษจากแมงดาทะเล ปลาปักเป้า
ซึ่งเป็นพิษที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยง่ายหากได้รับในปริมาณมาก ๆ
โดยสารพิษที่ว่านี้คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin)
ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสารแก้พิษนี้โดยเฉพาะ
การรักษาต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ
แต่การใช้รางจืดเพื่อรักษาพบว่าเมื่อผ่านไปประมาณ 40
นาทีผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นจนน่าประหลาดใจ (ใบ, ราก)
9. รางจืดช่วยต่อต้านพิษจากสารตะกั่วต่อสมอง
ซึ่งสารตะกั่วนี้ก็มาจากมลพิษจากเครื่องยนต์
และแน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีโอกาสได้รับสารตะกั่วสูงกว่าคนทั่วไป
โดยพิษจากสารตะกั่วนี้ก็มีผลต่อระบบภายในร่างกายหลายระบบด้วยกัน
แต่ที่สำคัญเลยก็คือระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้
มีงานวิจัยระบุออกมาว่า
แม้รางจืดจะไม่ได้ช่วยลดระดับของสารตะกั่วในเลือดของหนูทดลอง
แต่มันก็สามารถช่วยลดพิษของสารตะกั่วต่อระบบความจำและการเรียนรู้ในหนูทดลองได้
สรุปก็คือมันทำให้เซลล์ประสาทตายน้อยลงนั่นเอง (ใบ, ราก)
10. ช่วยถอนพิษจากยาเบื่อชนิดต่าง ๆ
ที่เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม (เช่น
พิษจากผลไม้ที่ติดอยู่ในฝักที่รับประทาน เป็นต้น)
รวมไปถึงพิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง ซึ่งจากการทดลองของคณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
พบว่าถ้าหากใช้ผงจากรากรางจืดผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อนให้หนูทดลอง
ปรากฏว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร
แสดงให้เห็นว่าผงจากรากรางจืดสามารถช่วยดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้ได้ (ใบ,
ราก)
11. ช่วยในการลดเลิกยาบ้า ซึ่งงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้าย
ๆกับฤทธิ์ของสารเสพติดอย่างแอมเฟตามีนและโคเคน
ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนโดพามีน
ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งออกมามากในขณะที่ผู้ป่วยใช้สารแอมเฟตามีน
ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากรางจืดนั้นเกิดความพึงพอใจ
เช่นเดียวกับการใช้สารเสพติด
และหากนำไปใช้ในการรักษากับผู้ป่วยก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทุรายมากนัก
ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยลดและเลิกการใช้เสพติดได้ (ใบ,ราก)
12. รางจืด แก้เมา สรรพคุณช่วยแก้อาการเมาค้าง แก้พิษจากแอลกอฮอล์
พิษจากการดื่มเหล้าในปริมาณมากเกินไป โดยคณะเภสัชศาตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต่อต้านพิษจากแอลกอฮอล์ต่อตับ
และพบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดนั้นสามารถช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับซึ่งเกิดจากพิษของแอลกอฮอล์และช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้
และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้มีการศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า
และพบว่าสารสกัดจากรางจืดช่วยทำให้ลดภาวะซึมเศร้า
ทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในหนูทดลองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
และยังช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากการขาดเหล้าได้
แต่ไม่มีผลต่อการช่วยลดความวิตกกังวล (ใบ, ราก)
13. รางจืด เบาหวาน รางจืดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ควบคุมเบาหวานและความดันได้ จากงานศึกษาวิจัยของหมอชาวบ้านจำนวนหนึ่ง
ได้ทำการทดลองในหนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มจากใบรางจืด
ได้ผลว่ามันสามารถช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนี้ยังพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
และยังช่วยทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์
และพบว่าสารสกัดจากน้ำของใบรางจืดนั้นมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูลดลง
และช่วยทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว
(การใช้สมุนไพรรางจืดในการรักษาโรคเบาหวานและความดันนั้น
ควรรักษาร่วมไปกับแผนปัจจุบัน
รวมทั้งมีการวัดระดับน้ำตาลและระดับความดันอย่างใกล้ชิด
เพราะการศึกษาวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์เท่านั้น
รวมไปถึงต้องระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันเองของตัวยาดังกล่าวด้วย)
14. รางจืดมีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง โดยสารใด ๆ
ก็ตามที่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ศักยภาพสูงสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
แต่สำหรับข้อดีของรางจืดนั้นมีฤทธิ์ในการต้านไม่ให้สารชนิดดังกล่าวออกฤทธิ์
ซึ่งแตกต่างจากกวาวเครือ
ที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการแบ่งตัวและสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง
ทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้น
15. สารสกัดน้ำจากใบรางจืดมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
16. ช่วยต่อต้านและแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เช่น อาการผดผื่นคัน
แมลงสัตว์กัดต่อย เริม งูสวัด อีสุกอีใส
โดยจากการศึกษาพบว่ารางจืดนั้นมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบสูงกว่ามังคุด ถึง 2
เท่า ! และยังมีความปลอดภัยสูงกว่าอีกด้วย
นอกจากนี้สารสกัดจากรางจืดในรูปแบบครีมก็สามารถช่วยลดอาการอักเสบได้ดีเทียบเท่ากับครีมสเตียรอยด์
(ใบ, ราก)
ประโยชน์ของรางจืด
– สมุนไพรรางจืด สมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง
ซึ่งเราสามารถกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผักได้ โดยจะใช้ลวกกิน แกงกิน
ก็ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป
นอกจากนี้ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บ้านได้อีกด้วย
โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม
การกินรางจืดในปริมาณติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
อาจจะต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้นต่อไปด้วย
– ชารางจืด ใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย
ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้
ส่วนรสชาติที่ได้ก็ดีไม่แพ้กับใบชาเลยที่เดียว แถมยังมีกลิ่นหอมอีก
และยังช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย
– ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แคปซูลรางจืดหรือรางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์
– การปลูกรางจืดนอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรแล้ว
ก็ยังนิยมปลูกไว้เพื่อชมดอก
แล้วก็ยังสามารถช่วยบังแสงแดดทำให้เกิดร่มเงาได้อีกด้วย
(แต่อย่าลืมว่ารางจืดเป็นไม้เลื้อย เลื้อยแหลก เลื้อยจนรก
เลื้อยแบบไร้การควบคุม)
แหล่งอ้างอิง :
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
(ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร), สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ the-than.com, เว็บไซต์ flickr.com (by Dhammavagga), เว็บไซต์ chiangraifocus.com (by udom-chai)
ขอขอบคุณ : samunpraibann.com