เปิดใจน้องอิงค์ เด็กอัจฉริยะ จบป.6 ไม่เรียนมัธยม สอบติดมหาลัยดัง พูดได้5ภาษา

เป็นข่าวที่ฮือฮา เมื่อเด็กหญิงคนหนึ่งวัย 11 ปี เรียนจบชั้น ป.6 แต่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องร่ำเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา อีกทั้งยังมีรางวัลระดับโลกการันตีความสามารถมาแล้วมากมาย เธอคือใคร เธอทำได้อย่างไร และเธอเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน นี่คือสิ่งที่หลายคนอยากรู้ ว่าน้องทำได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าว มีโอกาสพูดคุยกับ น้องอิงค์ ภัสสรา จันทร์โชติเสถียร ที่ขณะนี้เธออยู่ในวัย 15 ปี และเรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเธอวางแผนการการศึกษาไว้ว่า เธอจะต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ภายในอายุ 20 ต้นๆ

“ทำได้อย่างไร และมีเทคนิควิธีการอย่างไรบ้าง?” เราเริ่มคำถามอย่างตรงไปตรงมากับ น้องอิงค์ ภัสสรา เธอตอบอย่างซื่อว่าๆ “คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการเลี้ยงดูในลักษณะที่ว่า ตอนหนูแรกเกิดได้เพียง 3 เดือน คุณแม่จะจัดหาของเล่นเสริมพัฒนาการของเด็กวัย 6 เดือนมาให้เล่น พอหนูเข้า 6 เดือน คุณแม่ก็จัดหาของเล่นเสริมพัฒนาการวัย 9 เดือนมาให้ โดยที่คุณแม่ไม่รอให้หนูอายุครบตามเกณฑ์”

ดร.ภีรพรรณ จันทร์โชติเสถียร คุณแม่ของน้องอิงค์ วัย 51 ปี กล่าวเสริมว่า “เมื่อน้องเข้าอนุบาล น้องมีความรู้ในระดับชั้นอนุบาลทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้น น้องจึงเรียนของเด็กวัยประถมฯ พอน้องอายุระดับประถมฯ น้องก็เรียนของวัยมัธยมฯ โดยช่วงที่น้องเรียน ป.6 น้องเริ่มเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคุณแม่ก็พาน้องไปสอบ SCAT(School and College Ability Test) ซึ่งเป็นการทดสอบวัดความสามารถของเด็กทั่วโลก และผลออกมาว่า สถิติปัญญาของน้องอยู่ในระดับชั้นมัธยม แม้ ณ เวลานั้น น้องจะอยู่แค่ ป.6 ก็ตาม”

คุณแม่ของน้องอิงค์ บอกเล่าอีกว่า “ตอนน้องอิงค์อยู่ ป.2 คุณแม่โดนคุณครูเรียกพบ โดยคุณครูได้แจ้งกับแม่ว่า น้องอิงค์ชอบชวนเพื่อนในห้องคุย แม่ก็ตำหนิน้องว่า ทำไมลูกไปชวนเพื่อนคุย ทำไมไม่ตั้งใจเรียน น้องก็ตอบกลับมาว่า หนูรู้เรื่องหมดแล้วนี่คะแม่ หนูไม่ชอบ มันไม่สนุก และนี่ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ทำให้เราหันมาผลักดันลูกอย่างเต็มศักยภาพ”

“และเมื่อน้องอายุ 12 อยู่ในช่วงวัยที่จะเข้า ม.1 น้องสามารถสอบผ่านในระดับชั้น ม.6 ได้ โดยผ่านการสอบ IGCSE(International General Certificate of Secondary Education) ซึ่งมี 5 วิชา คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, ชีววิทยา, ภาษาอังกฤษ และสังคมวิทยา และผ่านการสอบ GCE-A Level ตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ภายในเวลา 1 ปี จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยเลยค่ะ โดยที่น้องอายุประมาณ 12 ย่าง 13 ปีเท่านั้น”

จากนั้น น้องอิงค์ ได้บอกเล่ากับทีมข่าวว่า “หนูเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งในวันที่สัมภาษณ์ กรรมการ 8 ท่านไม่ทราบมาก่อนว่าหนูอายุเท่าไหร่ แต่พอตรวจรายละเอียดในเอกสารก็พบว่า หนูอายุแค่ 13 ปี ซึ่งพวกท่านก็ตกใจมาก และเข้ามาซักถามถึงที่มาที่ไป”

“ต่อมาไม่นาน หนูได้ย้ายไปอยู่สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนี้อยู่ชั้นปีที่ 2 ค่ะ”

โดยหลังจากย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น้องอิงค์ได้เกรดเฉลี่ย 3.81 และมีโอกาสไปแข่งขันในเวทีต่างๆ จนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากการประกวด Design & Engineering Track ธีม Car of The Future ในงาน ICDL Asia Digital Challenge 2019

น้องอิงค์ไม่เพียงแค่ได้รางวัลด้าน Design and Engineering ในรุ่นอายุ 13-17 ปีของภูมิภาคเท่านั้น แต่น้องอิงค์ยังได้รางวัลที่ใหญ่สุดของการแข่งขันด้วย คือรางวัล Grand Winner อันเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้แข่งขันที่ได้คะแนนด้าน design and engineering สูงที่สุดของทุกรุ่นทุกอายุรวมกัน

อีกทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศ Maker Track การแข่งขัน Line Tracing Robot ด้วย Micro Bit ในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 อีกด้วย

ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า ความอัจฉริยะของน้องอิงค์มาจากพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่ เหตุผลนี้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่? คุณแม่ของน้องอิงค์ ตอบว่า “พ่อกับแม่ไม่ได้เก่ง เราประกอบธุรกิจส่วนตัว ขายสายไฟ ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า นอกเหนือจากเวลางานเราก็พยายามศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก สมัยที่พ่อกับแม่เรียน เราก็ไม่ใช้เด็กหัวดีอะไรด้วยกันทั้งคู่”

“ส่วนที่หลายคนคิดว่า น้องเก่งได้เพราะมาจากพ่อแม่เก่ง เหตุผลนี้ผิดถนัดเลยค่ะ เพราะเราสองคนไม่ได้เก่งอะไรเลย และเรามั่นใจว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ครอบครัวใดก็ตามเลี้ยงลูกแบบที่เราเลี้ยง ลูกของท่านก็จะสามารถทำได้เหมือนลูกคนเรา”

“ช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 ขวบ เป็นช่วงเวลาทองของครอบครัวเลยนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถเลี้ยงดูลูกวัยนี้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านความสามารถที่เป็นเลิศ, พัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่ดี ทุกอย่างจะคงที่ไปได้จนถึงตอนโต” คุณแม่ของน้องอิงค์ เผยความ(ไม่)ลับ

4 เทคนิค สร้างลูกอัจฉริยะ

โดยคุณแม่บอกเล่าถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะไว้ว่า 1. ตั้งแต่ลูกอายุ 6 ขวบ ครอบครัวของเรามีเงื่อนไขว่า ไม่ว่าจะไปไหน ใกล้ไกลให้ลูกถือหนังสือออกไป 1 เล่ม โดยไม่กำหนดว่าเป็นหนังสือประเภทไหน จะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง นวนิยาย หรือสาระความรู้ก็ได้ แต่ต้องเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งจุดนี้ทำให้น้องเก่งภาษาอังกฤษ

2. ครูเก่ง เด็กเก่ง ไม่ได้ทำให้ประสบความเร็จทางด้านการศึกษาเสมอไป แต่สิ่งที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ คือ ตำรา โดยคุณแม่ขยายความว่า “ตำราที่ครูใช้สอน พ่อแม่ต้องเป็นผู้เลือกให้ครูตั้งแต่เล่มพื้นฐานจนถึงเล่มสุดท้าย เพราะถ้าครูเอาแค่สิ่งที่ติดตัวครูมาสอน เด็กจะไม่เก่ง”

3. สอนให้ลูกมีวินัยในการใช้ชีวิตตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ ถึงเวลากิน ต้องกิน, ถึงเวลานอน ต้องนอน, ถึงเวลาขับถ่าย ต้องถ่าย แม้ไม่ปวดก็ต้องไปนั่งเพื่อขับถ่าย, ถึงเวลาอ่านหนังสือ ต้องอ่าน ซึ่งลูกๆ จะถูกฝึกฝนจนเป็นความเคยชิน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีระบบ

4. น้องดูซีรีส์ ดูภาพยนตร์ เล่นเกม เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป แต่จะไม่แนะนำให้ลูกเข้าไปดูนานๆ โดยยึดหลักที่ว่า “เข้าไปดูได้ แต่อย่าติด” จึงทำให้น้องรู้ในสิ่งที่สังคมกำลังฮิต และเข้าใจในเทรนด์ต่างๆ ของโลกอยู่เสมอ

คุณแม่ของน้องอิงค์ บอกเล่าอีกว่า “เคยมีญาติๆ พูดกับแม่ว่า แม่ตึงกับลูกๆ เกินไปหรือเปล่า แม่ยังไม่ทันได้อธิบายอะไร ลูกๆ ก็ตอบให้ว่า ถ้ารักหนู ต้องให้หนูเรียน เพราะหนูชอบ และหนูก็สามารถทำมันได้อย่างมีความสุข”

“กว่าที่น้องจะสามารถทำได้ถึงเพียงนี้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องอดทนอย่างมากนะคะ เพราะถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกอ่านหนังสือ แต่คนเป็นพ่อแม่ดูหนังฟังเพลงอย่างมีความสุข เด็กที่ไหนจะอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าลูกนอนดึก เราต้องนอนดึกกว่า ถ้าลูกอ่านหนังสือ เราก็อ่านเป็นเพื่อนเขา และเราต้องเป็นได้ทั้งแม่และเพื่อน”

“เคยมีคนบอกว่า น้องเอิร์ธพี่สาวของน้องอิงค์เก่งได้ เพราะโชคช่วย (ปัจจุบันอายุเพียง 23 ปี เรียนแพทย์ปี 6 อยู่ที่ Fudan University มหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรแพทย์อินเตอร์อันดับ 1 ในประเทศจีน) แต่พอมาถึงน้องเอิร์ธ ลูกสาวคนที่ 2 ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความสามารถทางด้านการศึกษาของน้องๆ ไม่ได้มาจากโชคช่วย ไม่ได้มาจากพันธุกรรม แต่มาจากการเลี้ยงดู และทุกครอบครัวสามารถทำได้เหมือนกับครอบครัวของเรา”

พลาดบางอย่างในชีวิต พลาดชีวิตวัยเด็ก?
แม่น้องอิงค์ตัดพ้อว่า “หลายคนบอกว่า น้องมุ่งมั่นแต่การเรียน จนทำให้น้องพลาดบางอย่างในชีวิตไปหรือเปล่า พลาดชีวิตในวัยเด็กไปหรือเปล่า แม่อยากถามว่า แม่พลาดอะไรหรอ แม่พลาดให้ลูกเล่นเกมคอมพ์ พลาดให้ลูกติดมือถือ พลาดให้ลูกไปกรี๊ดศิลปิน แม่พลาดอย่างนั้นหรือคะ”

“สำหรับครอบครัวของเรา แม่ไม่ได้พลาดเลย แม่ถามลูกเสมอว่า ลูกเบื่อไหมกับการที่มีเพื่อนอายุมากกว่า น้องตอบว่า น้องชอบ น้องได้คุยกับคนที่โตกว่า ได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ และเมื่อน้องมีโอกาสได้ย้อนกลับไปเจอเพื่อนในวัยเดียวกัน น้องกลับรู้สึกว่า ทำไมเด็กอย่างนี้ และคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว”

“เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุด เราเชื่อว่า เราสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติได้ และทุกครอบครัวสามารถสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับสังคมได้ หากวางแผนเลี้ยงดูแก้วตาดวงใจของคุณให้ดีที่สุด” แม่น้องอิงค์ ทิ้งท้าย

แหล่งที่มา : ไทยรัฐ ขอบคุณ: clipmv