5 วิธีป้องกันโรคฮีทสโตรก ลมแดด ภัยร้ายที่มาพร้อมอากาศร้อนจัด

อาการเป็นลม หน้ามืด ในช่วงที่อากาศร้อนจัด อาจไม่ได้เป็นแค่อาการเป็นลมทั่วไปเท่านั้น แต่นั่นอาจหมายถึงโรคลมแดด (Heat Stroke) ที่เชื่อหรือไม่ว่าสามารถคร่าชีวิตคนได้ภายในเวลาไม่นาน วันนี้ อันดับแซ่บจะพาคุณไปทำความรู้จักกับภัยเงียบที่มากับหน้าร้อนนี้ รวมถึงการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นคนเป็นโรคลมแดด และการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ มาฝากกันค่ะ

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

เป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายคนเราได้รับความร้อนสูงกว่า 40 องศา เกินกว่าที่ร่างกายจะทนได้ จากการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน หรือออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในช่วงที่อากาศร้อนเป็นเวลานานๆ  ซึ่งอาการที่พบได้ชัด คือ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันตก หน้ามืด ชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้
อาการที่แตกต่างจากอาการเป็นลมทั่วไปก็ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด หิวน้ำ เวียนหัว ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว หรือช็อค หมดสติ
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดด ส่วนมากแล้วจะเป็นคนที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน เช่น คนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง แดดแรงเป็นเวลานาน นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัด ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง คนอ้วน  คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลจัด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
หลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศร้อนจัด

การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมแดด

1.รีบนำผู้ป่วยเข้าไปในที่ร่ม ห้องแอร์ หรือในที่ๆ อากาศถ่ายเท มีลมพัด หลีกเลี่ยงที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ในที่อากาศร้อนจัด
2.นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง คลายเสื้อผ้าให้หลวม
3.ถ้าผู้ป่วยยังมีสติดี ให้ดื่มน้ำเย็น ใช้พัดลมเป่าหรือพัดให้ตัวผู้ป่วยเย็นลง หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ เพื่อลดความร้อนในร่างกายให้เร็วที่สุด
4.รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

การป้องกันโรคลมชัก

1.ดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย ในช่วงที่อากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น แม้จะไม่ได้รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
2.หลีกเลี่ยงการอยู่กลางสภาพอากาศร้อนจัด การทำงานกลางแจ้งหรือออกกำลังกาย เล่นกีฬากลางแจ้งในช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด หากจำเป็นต้องอยู่กลางแดดจัด ควรหาเครื่องป้องกัน เช่น หมวก ร่ม และดื่มน้ำบ่อยๆ
3.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลทุกชนิด
4.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี  น้ำหนักเบา
5.ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง แดดจัด


ที่มา :  สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข