Home »
Uncategories »
กราบหัวใจ ผอ.หญิงแกร่ง ผู้ไม่ยอมขายที่ดินโรงเรียน พันล้านก็ไม่ขาย อนาคตเด็กสำคัญกว่า
กราบหัวใจ ผอ.หญิงแกร่ง ผู้ไม่ยอมขายที่ดินโรงเรียน พันล้านก็ไม่ขาย อนาคตเด็กสำคัญกว่า
“โรงเรียนวรรณวิทย์” เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่ถึง 3 ไร่
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2489 ใจกลางสุขุมวิทซอย 8
หนึ่งในทำเลที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ
แต่น่าแปลกที่โรงเรียนแห่งนี้ เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 1,702 บาท
สำหรับชั้นประถม และ 1,317.50 บาท สำหรับชั้นมัธยมปีที่ 1- 3
ย้อนกลับไปเมื่อ 68 ปีที่แล้ว
“หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา” มองเห็นว่า
บุตรหลานของชาวบ้านละแวกนั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จึงได้ตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์ขึ้น
โดยในช่วงแรกเป็นอาคารหลังคามุงจาก สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ มีนักเรียนเพียง
8 คน หม่อมผิวทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และสอนด้วยตัวเอง
ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนในช่วงแรก
แม้ในระยะต่อมาจะมีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาตามสมควร
แต่ก็อนุญาตให้ค้างค่าเล่าเรียนได้
เนื่องจากผู้ปกครองเด็กส่วนมากมีความเป็นอยู่ขัดสน
จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนเอกชนเพื่อสังคมก็คงไม่ผิดนัก
โรงเรียนวรรณวิทย์ในวันนี้ ประกอบไปด้วยครู 37 คน และนักเรียน 514 คน
ครูใหญ่คนปัจจุบันคือ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ อายุ 94 ปี
ลูกสาวคนสุดท้องของหม่อมผิว รับหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497
แม้ท่านจะมีอายุถึง 94 ปี แต่ก็ยังเดินมาทำงานที่โรงเรียนทุกวัน
ท่าทางกระฉับกระเฉงแข็งแรงเกินกว่าจะเป็นคนอายุเกือบศตวรรษ
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับสุขภาพ “ใจ”
บรรยากาศนอกรั้วโรงเรียนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของยุคสมัย
จากที่มีแต่บ้านคนก็กลายเป็นย่านที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน
ร้านอาหารต่างประเทศ และคอนโดมิเนียมหรู
ทว่าเกือบทุกอย่างภายในรั้วโรงเรียนแห่งนี้
ยังคงสภาพเดิมเอาไว้เหมือนในวันแรกๆ
ราวกับว่ากาลเวลาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งได้
สำหรับแฟนนวนิยายนิยายรุ่นเก่าๆ จะรู้จักหม่อมผิวในชื่อ “วรรณสิริ”
อันเป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการประพันธ์นวนิยายหลายๆ เรื่อง
แต่ที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น “นางทาส” และ “วนิดา”
โรงเรียนวรรณวิทย์ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนมาหลายปีอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยค่าเทอมอันน้อยนิดที่โรงเรียนเรียกเก็บ เทียบกับภาระต้นทุนในปัจจุบัน
ครูใหญ่อธิบายว่าที่ยังยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเงินทุนที่ได้มาจากบทประพันธ์เรื่อง
“วนิดา”
“วนิดาทำเงินให้ท่านเยอะเลย แต่เราเอามาใช้จ่ายหมดแล้ว
ปกติค่าใช้จ่ายในโรงเรียนก็มาจากค่าเล่าเรียน แต่ทีนี้นักเรียนน้อยลง
มันก็ไม่พอ เราก็ต้องเบิกมา แต่ว่ามันหมดไปแล้ว วนิดาทำเงินเป็นล้านเลย
เขาเอาไปพิมพ์เป็นเล่มบ้าง ทำละครบ้าง”
บทประพันธ์จากปลายปากกาของ “วรรณสิริ”
จึงไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในวงการวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญ
ที่ช่วยให้ลูกศิษย์วรรณวิทย์หลายต่อหลายรุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แม้ที่ผ่านๆ มาจะมีหลายคนแนะนำว่าให้ขึ้นค่าเล่าเรียนมากกว่านี้
เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามยุคสมัย
แต่นั่นคือสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งโรงเรียน
ไม่ใช่แค่ค่าเทอมเท่านั้น
แต่ค่าครองชีพในโรงเรียนแห่งนี้ถูกคิดคำนวณมาแล้วว่าต้องอยู่ในอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นักเรียนโรงเรียนวรรณวิทย์จึงซื้อข้าวกลางวันได้ในราคาเพียงจานละ 20
บาทเท่านั้น
“ยายเก็บค่าเช่าที่ขายของในโรงอาหารวันละ 300 บาท
ขายอาหารมันใช้น้ำล้างจานเยอะ เราจ่ายค่าน้ำแพงมาก
แต่ไม่อยากไปเก็บค่าเช่าที่แพงๆ เพราะเขาจะได้ไม่ต้องไปขึ้นค่าอาหารเด็ก”
ครูใหญ่ตอบอย่างเรียบง่าย พื้นที่ขนาดเล็กที่รองรับนักเรียนกว่า 500 คน
ครูใหญ่เน้นว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการมาสอนหนังสือ “หัวใจ”
ต่างหากที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีใจรัก
ก็จะไม่สามารถให้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ดีๆ ให้กับเด็กได้ “สอนเด็ก
ต้องเป็นกันเองกับเด็ก ให้วิชาเต็มที่ อย่าเช้าชามเย็นชาม
ทำหน้าที่ของตัวให้สมบูรณ์ เด็กก็จะรัก เพราะเด็กเขารู้ คนไหนดีหรือไม่ดี
เพราะเขาฉลาด”
“เห็นเด็กไปได้ดี ครูก็ดีใจ” คุณครูพิสมัยสรุป และบางทีประโยคสั้นๆ นี้อาจจะสะท้อนความหมายของการเป็นครูได้ดีที่สุด
โรงเรียนเก่าแก่แห่งนี้อาจไม่มีคอมพิวเตอร์
หรือสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ สิ่งที่เราเห็นมีเพียงแค่ “ครู”
ที่มีจิตวิญญาณแห่งความเสียสละอย่างเต็มเปี่ยม
คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินไปนัก หากจะสรุปว่า สิ่งที่ประกอบกันเป็น
“โรงเรียนวรรณวิทย์” ทั้งหมด คือ “ความเสียสละ” ที่จับต้องได้
ถึงครูใหญ่จะบอกว่าโรงเรียนประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด
และเงินสำรองจากบทประพันธ์ “วนิดา” ก็ถูกนำมาใช้ในกิจการของโรงเรียนจนหมด
แต่ก็ไม่เคยคิดตกลงใจยอมรับการเสนอซื้อจากนักลงทุนที่หมายตาทำเลทองแห่งนี้แม้แต่ครั้งเดียว
แม้ว่าที่ดินเล็กๆ ผืนนี้จะมูลค่านับพันล้านบาท
“ใครมาซื้อก็ไม่ขาย จะขายทำไม มีเด็กๆ เรียนอยู่
บางคนเขายังไม่ได้บอกว่าจะซื้อเท่าไร ไม่ได้สนใจเพราะไม่ขายอยู่แล้ว
ก็นี่โรงเรียนของใครล่ะ โรงเรียนของเรา ที่ดินของแม่เรา นักเรียนของเรา
อนาคตของเด็กอยู่ตรงนี้ มันประเมินค่าไม่ได้หรอก”
จากคำตอบของหัวเรือใหญ่วัย 94 ปี แสดงให้เห็นแล้วว่า “เงิน”
อาจซื้อได้ทุกอย่าง ยกเว้นโรงเรียนวรรณวิทย์ และอุดมการณ์ของครูผู้เสียสละ
ถึงแม้จะประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดจนเงินทุนสำรองจากบทประพันธ์ “วนิดา” หมดลง
แต่ก็ไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่อยากให้เด็กด้อยโอกาสทุกคนมีที่เรียนหนังสือ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโรงเรียนเล็กๆ กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่
หัวใจของผู้คนสมัยนี้อาจแห้งแล้งและหยาบกระด้าง
ด้วยว่าเราชาชินกับความเห็นแก่ตัวของเพื่อนร่วมโลก แต่อย่างน้อยที่สุด
ยังมีหญิงชราหนึ่งคนที่ยินดีใช้ทั้งชีวิตของตัวเองวางเป็นเดิมพัน
เพื่อประคับประคองอนาคตของเด็กๆ เอาไว้ในสองมืออย่างเต็มใจ