บริจาคเงินอะไรดี ? ลดหย่อนภาษี 2560 วิธีประหยัดภาษี แบบได้บุญ

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี 2560 เช็กให้ดี เงินบริจาคแบบไหนนำมาลดหย่อนได้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการประหยัดภาษี ใกล้จะถึงช่วงต้องยื่นแบบภาษีกันแล้ว

          เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนคงกำลังมองหาตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีกันอยู่ใช่ไหมล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม RMF-LTF ประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ แต่บางคนอาจจะลืมไปว่า เงินบริจาค หรือ เงินทำบุญ ก็นำมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันนะ ซึ่งเหมาะมาก ๆ กับสายทำบุญทั้งหลาย เพราะได้ทั้งบุญและลดหย่อนภาษีไปในตัวเลย อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าจะบริจาคอะไรก็ลดภาษีไปได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นมาดูกันเลยว่า ตอนนี้มีรายการอะไรที่นำมา "ลดหย่อนภาษี 2560" ได้บ้าง เพื่อจะได้วางแผนในการประหยัดภาษีกัน


1. บริจาคเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล
         
          บอกก่อนว่าที่จริงแล้วการบริจาคเงินให้โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยตรงนั้น ปัจจุบันนำไปลดหย่อนภาษีเลยไม่ได้นะ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับในส่วนนี้ แต่ใครที่ต้องการนำเงินบริจาคให้โรงพยาบาลไปลดหย่อนภาษีนั้น จะต้องใช้วิธีบริจาคผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ ของโรงพยาบาล จึงจะนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินด้วย
 

          >>> ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิของโรงพยาบาลที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี

          อย่างโครงการ "ก้าวคนละก้าว" ของตูน Bodyslam ที่เป็นการวิ่งระดมทุนตั้งแต่เหนือจรดใต้เพื่อช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ ก็สามารถนำยอดบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้วได้เช่นกัน เพราะโครงการ "ก้าวคนละก้าว" เป็นการบริจาคเงินให้มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้านั่นเอง

          ใครที่กำลังมองหาทางเลือกในการลดหย่อนภาษี แต่ไม่รู้จะนำเงินไปบริจาคที่ไหน ก็สามารถเลือกสนับสนุนโครงการ "ก้าวคนละก้าว" ได้เลย ซึ่งมีวิธีบริจาคให้เลือกหลากหลายช่องทาง ทั้งโอนเข้าบัญชีธนาคาร, พร้อมเพย์, SMS, SCB Easy App/SCB ATM, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, เว็บไซต์ Ruckdee.com, ตู้รับบริจาคที่ BigC, True Money และ Rabbit/Line Play

          โดยใครที่ต้องการนำเงินบริจาคจากโครงการ "ก้าวคนละก้าว" มาลดหย่อนภาษีด้วยนั้น มีข้อกำหนดนิดนึง คือ ต้องเป็นการบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร, พร้อมเพย์, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, SCB ATM, SCB EASY APP และเว็บไซต์ Ruckdee.com เท่านั้น และมียอดบริจาคตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินด้วยนะ ส่วนวิธีขอใบเสร็จรับเงินก็ทำได้ง่าย ๆ ตามนี้

          -  เก็บหลักฐานการบริจาค มาติดต่อขอใบเสร็จภายใน 5 วันนับจากวันที่บริจาค และภายในเดือนที่ทำการบริจาค

          - เข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อขอรับใบเสร็จผ่าน เว็บไซต์ก้าวคนละก้าว

          - มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินตัวจริงให้ผู้บริจาคหลังจากตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้นภายใน 30 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับข้อมูลจากผู้บริจาค หากผู้บริจาคไม่ได้รับใบเสร็จรับเงินตัวจริงภายในกรอบเวลานี้ ให้ติดต่อไปยังมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโดยตรงอีกครั้ง

          - หากใครไม่สะดวกจะขอใบเสร็จรับเงินผ่านเว็บไซต์ ก็สามารถติดต่อขอใบเสร็จรับเงินโดยตรงได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โทร. 0-2354-3699, 09-8860-1411 (จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-19.00 น., เสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น.) หรือส่งมาที่ E-mail : foundation_pmk@hotmail.com


2. บริจาคให้วัดวาอาราม
         
          การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนวัดวาอารามต่าง ๆ ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น ได้เหมือนกับการบริจาคเงินให้มูลนิธิโรงพยาบาล โดยผู้บริจาคจะต้องมีหลักฐานยืนยันเป็นใบอนุโมทนาบุญ หรือใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อผู้บริจาค มายืนยันเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีด้วย

          >>> ตรวจสอบรายชื่อวัดวาอารามที่มีสิทธิขอลดหย่อนภาษี


3. บริจาคเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม 

          เป็นอีกหนึ่งสิทธิพิเศษทางภาษี สำหรับปี 2560 โดยเฉพาะ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการประกาศให้สามารถนำเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว มาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

          โดยต้องเป็นการบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2560 สำหรับเหตุน้ำท่วมภาคใต้ ส่วนเหตุน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดรัฐบาลได้ขยายเวลาบริจาคออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จากเดิมที่ต้องเป็นการบริจาคระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2560

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี
ภาพจาก กรมสรรพากร
          ใครที่เคยบริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมไว้ หรือมีแผนที่จะบริจาคช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่าลืมเตรียมหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการโอนเงินให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มายื่นเป็นหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีได้เลย 


4. บริจาคเพื่อการศึกษา

          การบริจาคเงินเพื่อการศึกษานั้น เรานำมายื่นลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น ๆ หมายความว่า บริจาคไป 100 บาท นำมาลดหย่อนได้ถึง 200 บาทเลยทีเดียว ซึ่งต้องเป็นการบริจาคใน 3 รายการนี้

          - อาคารสถานที่ เป็นการจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

          - สื่อการเรียน การสอน เป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

          - บุคลากร เป็นการจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา


          >>> ตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี 
5. บริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา

          เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา ถ้าเป็นการบริจาคให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่าง ๆ จะนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกันถึง 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

          >>> ตรวจรายชื่อหน่วยงานกีฬาที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี
ภาพจาก feelphoto/Shutterstock


6. บริจาคช่วยเหลือผู้พิการ

          นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ โดยต้องเป็นการบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้คนพิการได้เข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นสาธารณะ รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ

          >>> ตรวจสอบรายชื่อตรวจสอบรายชื่อสถานสงเคราะห์คนพิการที่มีสิทธิขอลดหย่อนภาษี

7. บริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก

          เป็นการบริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรืออาจจะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

          >>> ตรวจสอบรายชื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี


8. บริจาคให้โครงการฝึกอบรมเยาวชนของสถานพินิจ

          สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ โดยต้องเป็นเงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ของกระทรวงยุติธรรม

         >>> ตรวจสอบรายชื่อตรวจสอบรายชื่อสถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็กที่มีสิทธิขอลดหย่อนภาษี


9. เงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรม

          เป็นรายการบริจาคสำหรับลดหย่อนภาษี รายการล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยเราจะสามารถนำเงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรม มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

          สำหรับกองทุนยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนกรยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยจะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

 

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

วิธีคำนวณเงินบริจาคเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี


          อ่านมาถึงตรงนี้เราคงจะทราบกันไปแล้วว่าเงินบริจาคส่วนไหนบ้างที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วมีวิธีคำนวณได้ยังไงว่าเงินที่เราบริจาคไปนั้น ประหยัดภาษีได้กี่บาท แล้วที่บอกว่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หมายความว่าอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นมาดูกันว่าการคิดค่าลดหย่อนภาษีของเงินบริจาค มีวิธีคำนวณแบบไหนกัน
          สมมติว่านาย A มีรายได้สุทธิทั้งปี 500,000 บาท ได้บริจาคเงินให้โครงการก้าวคนละก้าว 25,000 บาท และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ดังนี้          - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท 

          - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน คนละ 30,000 บาท รวมเป็นจำนวน 60,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนบุตร 1 คน 30,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 40,000 บาท


          ดังนั้น เมื่อหักค่าลดหย่อนข้างต้นแล้ว นาย  A จะเหลือรายได้สุทธิเท่ากับ 201,000 บาท หลังจากนั้นเราจึงค่อยนำรายได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ ของนาย A จำนวน 201,000 บาท ไปคำนวณลดหย่อนภาษีเงินบริจาค ซึ่งโครงการก้าวคนละก้าว สามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

          หมายความว่า นาย A จะหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาคของโครงการก้าวคนละก้าว ได้ไม่เกิน 10% ของ 201,000 บาท หรือก็คือไม่เกิน 20,100 บาทนั่นเอง สรุปแล้วการที่นาย A บริจาคเงินไปทั้งหมด 25,000 บาท จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ 20,100 บาท
          ใครที่ชอบบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาล วัด โรงเรียน หรือหน่วยงานอื่น ๆ เป็นประจำ และมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกปีอยู่แล้ว ก็อย่าลืมเก็บหลักฐานใบเสร็จการบริจาคเงินไว้ เพื่อเป็นตัวเลือกในการลดหย่อนภาษีด้วยนะ เพราะนอกจากจะช่วยให้ได้บุญ ยังช่วยประหยัดเงินในการยื่นภาษีได้อีกด้วย 
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร