สะท้อนอาชีพครู ทำไมข้าราชการครู ส่วนใหญ่มีหนี้ท่วมหัว ฟังความจริงแล้วถึงกับสะอื้น

เรื่องจริงสะท้อนอาชีพครู!! ทำไมข้าราชการครู ส่วนใหญ่มีหนี้ท่วมหัว ฟังความจริงแล้วถึงกับสะอื้น

เรื่องหนี้สินไม่ว่าจะทุกอาชีพก็ต้องมีหนี้กันแทบทุกคน เพราะความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม บางคนเกิดมาต้นทุนดีมีมรดกจากพ่อแม่แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารจัดการสุดท้ายก็ล้มละลาย เงินหดหายจนมีหนี้สิน รวมถึงคนที่พ่อแม่ไม่มีพอเรียนจบก็อยากให้พ่อแม่ได้สุขสบาย ทำงานเก็บออมอย่างเดียวก็กลัวว่าจะไม่ทันทนแทนพระคุณ ก็ต้องไปหยิบยืมมาเหมือนกัน โดยล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า เก่งกาจ จริงจังชนังกูล  ได้ออกมาโพสต์เรื่องจริงสะท้อนถึงอาชีพครู ว่าเหตุใดทำไมคนที่ทำอาชีพนี้มีหนี้สินมากมาย โดยระบุว่า...

#กรุณาอ่านทุกบรรทัดอ่านให้จบ

จากปัญหาต่างๆที่ปรากฎบนหน้าสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อใดก็ตาม ครูคือจำเลยของสังคม ทั้งเรื่องการเป็นหนี้ การทำวิทยฐานะ คุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามนโยบาย วันนี้อดทนไม่ได้ขอเขียนในฐานะครูคนหนึ่ง ขอพูดทีละประเด็น

๑. ประเด็นหนี้สินครู ผมเชื่อว่าทุกอาชีพมีหนี้สินเหมือนกันหมดอยู่ที่ว่าจะจับอาชีพใดมาโจมตี สำหรับครูทำไมเป็นหนี้ ผมขอย้อนถามถึงสวัสดิการรัฐก่อนว่าให้อะไรกับข้าราชการบ้าง โดยเฉพาะครู แบ่งได้ดังนี้

๑.๑ บ้านพักสวัสดิการ มีบ้านพักครูโรงเรียนใดบ้างที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเพียงพอต่อจำนวนครู เมื่อเทียบกับตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล อัยการ ผู้พิพากษา ข้าราชการพลเรือน ล้วนมีบ้านพักที่สมบูรณ์กว่ามากมาย ครูบางคนก็ต้องกู้มาปรับปรุงบ้านพัก ซื้อบ้าน เช่าบ้าน ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน




๑.๒ โรงเรียนใดมียานพาหนะให้ครูใช้บ้าง ในกรณีพานักเรียนไปแข่งขัน หาหมอ ไปอบรม ไปราชการ ครูก็ต้องซื้อรถเพื่อประโยชน์ส่วนตนและทางราชการ หากรอรถหลวงเมื่อไหร่จะได้ ครูไม่ได้รวยพื้นฐานส่วนมากมาจากลูกเกษตรกรหรืออาชีพอี่นๆที่ไม่ได้ร่ำรวย

๑.๓ ภาษีสังคม ทุกอาชีพย่อมมีภาษีสังคม แต่คนเป็นครูมีนักเรียนและผู้ปกครองตลอดจนชุมชนมากมาย คาดว่าอาจจะมากกว่านายอำเภอด้วยซ้ำไปที่อยู่กับชาวบ้าน เพราะครูต้องเลี้ยงลูกของชาวบ้านไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง เวลามีงานทีครูไปร่วมงานไม่ว่างานใดๆ ครูไปทุกงาน ไม่ไปก็จะโดนผู้ปกครองตำหนิว่าไม่ให้เกียรติ

๑.๔ กู้มาเพื่อทดแทนบุญคุณ พ่อแม่ส่งเรียนโดยนำที่นาไปจำนอง จำเป็นต้องกู้เพื่อไถ่ถอนให้พ่อแม่ ถามว่าอาชีพหมอมีไหม ส่วนมากหมอมาจากลูกคนมีฐานะจึงไม่ค่อยเห็นความลำบากในจุดนี้

๒. ประเด็นวิทยฐานะครู เป็นที่วิพากวิจารณ์กันมากว่าครูทิ้งห้องเรียนทำผลงาน ขอถามตามข้อเลยนะครู-2

๒.๑ ถ้าครูมัวแต่สอนไม่ทำงานเอกสาร ก็กล่าวหาว่าครูไม่อยากก้าวหน้าในวิชาชีพไม่มีเอกสารหลักฐานในการตรวจหาความสำเร็จ

๒.๒ ถ้าครูทำเอกสาร ก็กล่าวหาว่าครูไม่สนใจเด็ก ถ้าไม่ทำเอกสารท่านผู้มีอำนาจก็กล่าวว่าครูไม่สนองนโยบาย ไม่มีหลักฐานในการติดตาม

๒.๓ วิทยฐานะครูนำมาซึ่งเกียรติยศ เงินเพิ่มขึ้น แต่อาชีพอื่นกว่าจะได้เพราะต้องตามระบบซี ห้ามเกินผู้บังคับบัญชา เลยหาเรื่องครูสารพัด

๓. ประเด็นคุณภาพการศึกษา ท่านผู้ออกนโยบายไม่ทราบถึงบริบทของโรงเรียนและนักเรียนที่แตกต่างกันแต่ระบบการวัดผลประเมินผลนำมาใช้แบบเดียวกัน จะหาค่าความเชื่อมั่นจากที่ใดครู-3

๓.๑ เด็กนักเรียนในเมืองใหญ่มีความพร้อมมากกว่าเด็กชนบท ไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องกังวลปัญหาปากท้อง พ่อแม่หาให้ได้ เด็กชนบทบางครอบครัวช่วงปิดเทอมต้องไปทำนา ทำไร่ จะเอาคุณภาพเท่ากันได้ไง

๓.๒ ครูมีหน้าที่สอน ไม่ใช่หน้าที่ตามเก็บชั่วโมงในการอบรมสัมมนาต่างๆ เพื่อสนองนโยบาย แล้วครูจะเอาเวลาไหนมาสอนนักเรียน อบรมอย่างเดียว เห็นว่าห้ามอบรมวันราชการให้อบรมวันหยุด ครูก็ไม่มีเวลาให้ครอบครัว สุดท้ายความเครียดมาเยือน

๓.๓ คืนครูให้กับนักเรียน จ้างบุคลากรมาทำงานเอกสาร สุดท้ายครูก็ทำเอกสารอยู่ดีไม่ว่างานประเมินต่างๆ สรุปครูมาสอนหรือมาทำเอกสาร



ไม่ว่าจะสาเหตุอะไรข้างต้น #ถ้าคุณไม่ใช่ครูก็ไม่ควรวิจารณ์ครูหรือปฏิบัติต่อครูในแนวอคติของตน ตามที่สังคมขีดกำกับไว้ ว่าครูคือจำเลยของสังคม แต่ให้คุณระลึกว่าไม่ว่าอาชีพอะไรคุณต้องผ่านการอบรมจากครูมา หากไม่มีครูคุณจะสามารถมีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีอาชีพที่มีเกียรติกว่าครูหรือไม่ ครูทุกคนไม่ว่าเรื่องส่วนตัวจะเป็นอย่างไร ท้ายสุดคืออยากให้เด็กที่เราสอนได้ดีทุกคน เพราะครูคือคนที่ลองผิดลองถูกมาทุกเรื่อง จึงไม่อยากให้เด็กที่สอนเป็นแบบครู แต่ทำไมครูจึงเป็นจำเลยของสังคม เพียงเพราะคำว่า " อคติ "

#ถ้าอยากปฎิรูปการศึกษา #ปฎิรูปครู #ขอให้ปฎิรูปผู้บริหารระดับสูง ผู้ออกนโยบายก่อนเถิด เพราะ #ครูเป็นแค่ผู้ปฎิบัติ #มิใช่ผู้สั่งให้ปฎิบัติ 

ทั้งนี้ได้มีชาวเน็ตหลายท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นบางท่านก็บอกว่าเห็นด้วย ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความลำบากของอาชีพนี้ ที่ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นเรื่องเป็นราวสักที

ขอขอบคุณที่มาจาก : เก่งกาจ จริงจังชนังกูล