เช็กนิสัยการนอน นอนผิดทำป่วย ได้

คุณนอนอย่างไร นอนผิดทำป่วย ได้นะ ผมว่าเรื่อง นอน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา รองมาจากเรื่องการกิน

ในเรื่องการแพทย์ซึ่งเกี่ยวกับการนอน ผมคิดว่าเราจำจากฝรั่งมาใช้มากเกินไป ทั้งๆ ที่เรื่องการนอนเป็นเรื่องจำเป็นทางธรรมชาติ ธรรมชาติบังคับว่า เมื่อกินแล้วต้องนอน เมื่อทำงานแล้วก็ต้องนอน ไม่ว่าจะทำอะไรๆ มาตลอดวัน ถึงเวลากลางคืนเราต้องนอน

เมื่อสมัยผมยังเป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ไม่เคยได้ยินคำว่า "สุขภาพ" พอเรียนถึง ป.4 ครูเอาตารางสอนมาให้จึงเห็นคำว่า "สุขศึกษา" เข้าใจว่าคงเป็นคำแรกๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ แต่ไม่มีใครนึกถึงคำนี้ ก็เลยเอาคำว่า "สุขศึกษา" มาใช้ ดูหน้าตาคุณครูก็รู้สึกว่าท่านทำหน้างงๆ อยู่

สมัยก่อนเด็กนักเรียนไม่ค่อยเก่งกล้าเหมือนเด็กสมัยนี้ครูไม่อธิบาย เด็กก็ไม่กล้าถาม ยิ่งเวลามีครูที่ขึ้นชื่อว่า "ดุ" เดินเข้ามาสอน นักเรียนจะตัวแข็ง นั่งตัวตรง ไม่กล้ากระดิกตัว

สมัยก่อนเด็กกลัวครู เลยไม่มีใครกล้าถามและก็ไม่มีใครตอบเพิ่งมารู้ความเมื่อเป็นนักเรียนโตขึ้น ยิ่งเมื่อเรียนสูงขึ้นถึงระดับมหาวิทยาลัยจึงทราบว่า เรื่องการนอนซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ นั้น เรากลับไม่ได้พูดถึงความเป็นธรรมชาติเลยแต่กลับไปลอกวิชาการแบบครึ่งๆ กลางๆ ของฝรั่งสมัยแรกๆ มาเราถูกสอนว่า คืนหนึ่งๆ ต้องนอนให้ได้ 8 ชั่วโมง

การนอน 8 ชั่วโมงนั้น เราถูกสอนกันมานานมาจนกระทั่งบัดนี้ จากชั้นประถมจนถึงมัธยม และระดับมหาวิทยาลัยขนาดจบมหาวิทยาลัยออกมาทำงานใหญ่โต ถูกถามก็จะตอบตามเดิมว่า ต้องนอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง

นั่นเป็นคำสอนเก่ามาก จนบัดนี้ความรู้เรื่องการนอนมีมากมาย มีการศึกษาเรื่องการนอนและวิธีนอน ฝรั่งตื่นตัวจนกระทั่งทุกมหาวิทยาลัยแพทย์ต้องมี SLEEP CLINIC กันทั่วทุกมหาวิทยาลัย
ความรู้ในเรื่องการนอนมีมากมาย ได้ศึกษาเรื่องการนอน กลไกการนอน กลไกระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้ข้อสรุปว่าการนอนที่ดีและถูกต้องนั้นไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาหรือชั่วโมงของการนอน แต่อยู่ที่อาการของการนอนนั้นคุณสามารถนอนได้หลับสนิทและหลับลึกหรือเปล่า เพราะถ้าคุณหลับลึกและหลับสนิทได้ คุณก็จะได้ยาวิเศษจากสมองของคุณเอง ยาวิเศษนี้ช่วยให้คุณแข็งแรงสดชื่น และจะหลั่งออกมาเมื่อคุณหลับสนิทและหลับลึก นอนกี่ชั่วโมงไม่สำคัญ เมื่อหลับสนิท หลับลึกร่างกายจะบอกคุณเองว่าควรจะตื่นได้แล้ว

นอนเช่นนี้นอนเพียง 5 ชั่วโมงก็เพียงพอ 6 ชั่วโมงกำลังดี 8 ชั่วโมง หรือบางคนนอนสามวันสามคืนแบบที่เรียกว่านอนกินบ้านกินเมืองนั้น ลองไปคุยกับเขาดูบ้าง เขาดูจะเหมือนคนเมา สะลึมสะลือ พูดไม่รู้เรื่อง เพราะนอนนานเกินไปท็อกซินสะสมในตัวมากเกินไป

นอนมากเกินไปแทนที่สุขภาพจะแข็งแรงกลับกลายเป็นคนป่วยไป ลอง เช็กหรือตอบคำถามแบบสำรวจตัวเอง ดูสักหน่อยดีไหมครับ

จะได้ทราบว่า คุณป่วยเพราะนอนไม่ดีหรือนอนไม่ถูกต้องหรือเปล่า นอนผิดทำป่วยได้นะ

คำถาม
1. เวลาเพลียๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของวัน เช้า กลางวันเย็น จะอยากกินของหวานหรือเครื่องดื่มหวานๆ อย่างรุนแรง2. หลังกินอาหารเย็นจนอิ่มแปล้ ยังไม่ทันลุกจากโต๊ะอาหารก็ง่วงจนลุกจากโต๊ะอาหารไม่ได้ หลับอยู่ตรงนั้นเอง และข้อที่น่าแปลก พอรีบเข้านอนตั้งใจจะนอนให้เต็มที่กลับนอนไม่หลับนอนลืมตาโพลงตลอดคืน
3. เวลากินอาหารเย็นอิ่มๆ ดื่มเหล้าหรือเบียร์เข้าไปหน่อยสามารถหลับคาโต๊ะอาหาร
4. เวลาขับรถจะง่วงหนักจนลืมตาไม่ขึ้น รถจอดรอไฟแดงก็หลับคารถ จนคนขับรถคันหลังต้องบีบแตรไล่
5. วันหยุดเสาร์ - อาทิตย์หรือวันหยุดราชการต้องนอนตื่นสายเป็นการแถม หรือทดแทนที่ต้องทนตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานให้ทัน
6. ชอบฝันร้ายบ่อยๆ ฝันว่าต้องสู้กับใครที่ไหนก็ไม่ทราบชนิดเอาเป็นเอาตาย บางทีก็เกิดความกลัววิ่งหนีอะไรไม่ทราบจนตกใจตื่น พอตื่นก็เหมือนจะเป็นลมหมดแรง
7. ตอนเช้าตั้งนาฬิกาปลุกแต่เช้า พอนาฬิกาดังเอื้อมมือไปกดสวิตช์นอนต่อไม่ยอมตื่น
8. ถ้าตื่นตามปกติ ลืมตาไม่ขึ้น ไม่มีแรงจะลุกจากเตียง
9. ติดกาแฟ ตื่นขึ้นมาต้องดื่มกาแฟติดต่อกัน 2 - 3 แก้วมิฉะนั้นจะลืมตาไม่ขึ้น
10. ก่อนจะนอน นึกย้อนไปตอนเช้าตลอดเย็นทำอะไรบ้างคำตอบคือ จำไม่ได้
11. หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่ว่าทำอะไรหรือใครทำอะไรให้ก็จะโมโหไปตลอดวัน จนมีคำพูดประจำว่า "ระวังเจ้านายให้ดีวันนี้โดนกัดไปหลายคนแล้ว"
12. คิดอะไรใหม่ ๆ หรือคิดวางแผนงานในทางบวกหรือสร้างสรรค์ไม่ออก
13. กำลังดูทีวี ไม่กี่นาทีก็นั่งหลับ
14. ชอบฝันว่าคืนนี้คงสบายใจ นอนหลับสนิทและฝันดี
15. ขอบตาล่างมีวงกลมหรือถุงตาหย่อนสีคล้ำเหมือนคนถูกชกจนตาเขียว

นอนผิดทำป่วยมีมากมายอีกหลายข้อครับที่อยากจะถามเพื่อให้คุณตอบแต่เอาเพียง 15 ข้อที่ถามมานี้คุณก็ทำท่าจะแย่แล้ว ฉะนั้น วันนี้ตอบเพียง 15 ข้อก่อน
ถ้าคำตอบใช่ถึง 5 ข้อ ระวังว่าโรคนอนไม่หลับจะเล่นงาน
ถ้า 6 - 10 ข้อ ต้องรีบรักษาตัว ต้องใจแข็งแรง บังคับตัวเองให้ได้
ถ้า 11-15 ข้อ คุณเป็นโรคประสาทมานาน อิมมูนซิสเต็ม (IMMUNE SYSTEM) ของคุณใช้ไม่ได้

จาก คอลัมน์ปัญจกิจสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 363
Cr::: goodlifeupdate.com