เตือน! วัยรุ่น-วัยทำงาน แนวโน้มหูเสื่อม

แพทย์โรงพยาบาลราชวิถี เตือน! วัยรุ่น-วัยทำงาน แนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น

"เสียง"
เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ที่ได้รับเสียงดังมากเกินไป จะส่งผลกระทบทำให้หูชั้นในเสียได้ โดยพบว่า วัยรุ่นและวัยทำงาน

แนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้นข้อมูลจาก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในประเทศไทยพบผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินกว่า 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น ซึ่งปัญหาการสูญเสียการได้ยิน มีหลายสาเหตุ เช่น จากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจากการทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่เสียงดัง รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใส่หูฟังเป็นเวลานาน การคุยโทรศัพท์เสียงดังเกินไป

โดยกลุ่มเสี่ยงสูงคือกลุ่มคนที่ทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมงอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยมีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน คือการได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆเหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งหากมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน หรือแก้วหูทะลุหรือไม่ การตรวจการได้ยิน หากพบว่าประสาทหูเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้คือการป้องกันไม่ให้เสื่อมมากขึ้น การแก้ไขมี 2 วิธีคือการใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่เสียงดังเป็นเวลานาน หรือหากต้องอยู่ในที่เสียงดัง หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง การพักผ่อนให้เพียงพอทำร่างกายให้แข็งแรงป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน

ด้าน นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า

 ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคการสูญเสียการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี กว่า 3,000 คนต่อปี และได้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย โรงพยาบาลราชวิถีตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพหูของคนไทย โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ "โรงพยาบาลราชวิถี ลดเสียง ลดหูหนวก" เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง พร้อมบริการตรวจเช็คเครื่องช่วยฟังฟรี แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ทางด้าน นพ.ดาวิน เยาวพลกุล และ นพ.สุประพล จันทพันธ์ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้แนะนำว่า "เสียง" ที่ทำให้เกิดอันตรายกับหูขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ ความดัง และระยะเวลาที่หูเราสัมผัสกับเสียงนั้น บางทีไม่ต้องดังแต่อยู่กับเสียงนั้นนานๆก็อาจทำให้มีปัญหาได้ ในทางวิชาการเสียงที่มีความดังระดับ 85 เดซิเบล ไม่ควรรับเสียงนั้นเกิน 8 ชม. หรือบางครั้งถึงแม้จะเป็นการได้ยินเสียงดังในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงปะทัด เสียงปืน บางคนได้ยินเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้มีโอกาสประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้

รวมถึงการใส่หูฟังของคนในปัจจุบัน ถึงแม้เสียงจะไม่ได้ดังมาก แต่ถ้าใส่หูฟังเป็นระยะเวลานานๆ ก็มีโอกาสทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีเสียงดัง หากต้องไปอยู่ในที่เสียงดังแบบเลี่ยงไม่ได้ ควรป้องกันด้วยการใส่ที่ครอบหู หรือใส่เอียปลั๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงที่เข้าไปในหูไม่ดังมากเกินไปนอกจากนี้ คุณหมอยังได้แนะนำวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการหูหนวกในขั้นต้นการได้ยินจะลดประสิทธิภาพลง ให้สังเกตได้จากการได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ชัด

ทั้งที่คนอื่นพูดปกติ เปิดทีวีเสียงดังกว่าปกติ เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงทีวี หรือว่ามีอาการที่บ่งชี้ว่าประสาทหูเสื่อม เช่น ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องจี๊ดๆ อยู่ในหู ส่วนการทดสอบว่ามีอาการประสาทหูเสื่อมหรือไม่ ง่ายๆ คือ ให้ใช้สองนิ้วมาเสียดสีกัน บริเวณข้างๆ หู ถ้าพบว่าไม่ได้ยิน ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป


Cr:::thaihealth.or.th