เผยความจริง “ธนบัตรขาดชำรุด” แบบไหนแลกคืนได้
เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเจอกับเรื่องของเงินของเราซึ่งเป็นธนบัตร
ซึ่งบางครั้งอาจจะเผลอทำขาด หรือหรือเก็บไว้นานจนธนบัตรชำรุด
บางคนที่ไม่รู้ก็ได้นำไปทิ้ง โดยยังไม่รู้ว่าบางครั้งธนบัตรชำรุดหรือขาด
สามารถนำไปแลกคืนได้ วันนี้เราได้นำความรู้มาให้ได้ดูกันด้วย
ว่าธนบัตรขาดชำรุดแบบไหนที่สามารถแลกคืนได้
1. ธนบัตรครึ่งฉบับ
ธนบัตรที่ถูกฉีกขาดตรงกลางหรือใกล้กับตรงกลาง
โดยแยกเป็นสองส่วนตามแนวตั้งเท่านั้น จะสามารถแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับ
ได้ครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น หมายความว่า ถ้าเรามีแบงก์ 100
บาทอยู่ครึ่งเดียว จะแลกเงินคืนได้ 50 บาท
ยกเว้นแต่มีสองส่วนครบถึงจะแลกได้เต็ม 100 บาท
2. ธนบัตรต่อท่อนผิด
ธนบัตรที่มีส่วนของธนบัตรใบอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน
จะสามารถแลกได้เต็มราคา หากแยกกันไม่เกินสองท่อน
และแต่ละท่อนเป็นธนบัตรชนิดราคาเดียวกัน
3. ธนบัตรขาดวิ่น
ธนบัตรที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป
หากยังมีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่มากกว่าครึ่งฉบับ หรือ 3 ใน 5 ส่วน
จะสามารถนำมารับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคา
4. ธนบัตรลบเลือน
ธนบัตรที่ข้อความหรือตัวเลขโดนลบเลือนหายจนอ่านไม่ได้
ยังคงสามารถนำมาแลกเปลี่ยนได้เต็มราคา
หากยังดูออกว่าเคยเป็นธนบัตรแท้จริงมาก่อน
แลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดได้ที่ไหนบ้าง
เราสามารถนำธนบัตรชำรุดมาแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น ได้ที่
– ธนาคารออมสินทั่วประเทศ ทุกวันทำการ
– ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ เฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า
วิธีการขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด
โดยขั้นตอนการแลกเปลี่ยนนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
– แลกเปลี่ยนที่เคาน์เตอร์ธนาคารได้ทันที
สำหรับธนบัตรที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน โดยจะสามารถแลกเปลี่ยนได้เต็มตามราคาหน้าธนบัตร
– กรณีต้องเขียนคำร้อง
ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ ธนบัตรต่อท่อนผิด และธนบัตรขาดวิ่นที่มีเนื้อน้อยกว่า
3 ใน 5 ส่วน : จะต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยน
พร้อมแนบธนบัตรชำรุดยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร
เพื่อนำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณา
ทั้งนี้ ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือทางธนาณัติ ตามที่ผู้ขอแลกระบุไว้ในคำร้อง
ธนบัตรชำรุดที่ถูกไฟไหม้เกรียม ถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะ
หรือเปื่อยติดกันเป็นปึกจำนวนมาก :
ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอออกหลักฐาน
ก่อนนำมาขอแลกด้วยตนเอง ที่สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
เนื่องจากธนบัตรเหล่านี้ อาจได้รับความเสียหายระหว่างจัดส่ง