เชื่อเถอะการเป็นคนตรงไปตรงมา แม้จะไม่มีใครชอบ แต่เชื่อเถอะมันสบายใจดี

“พูดอย่างจริงใจ” ไม่ใช่ “พูดขวานผ่าซาก”

ในยุคที่เต็มไปด้วยการปรุงแต่ง

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเติมด้วยเทคโนโลยี

การแต้มเติมด้วยวัตถุประสงค์ทางการตลาด

ที่อาจมุ่งหวังผลประโยชน์

ในยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้

และทำได้ง่ายเสียจนบางครั้งเราก็สับสนว่าข้อมูลไหนใช่ไม่ใช่

ข่าวไหนจริงไม่จริง

หลายครั้ง เราจึงต้องการ “คนที่พูดความจริง” กับเรา

ประกอบกับการดำเนินชีวิตในยุคที่ดูเหมือนว่า

เข็มนาฬิกาจะหมุนเร็วเสียเหลือเกิน


เร็วจนบางทีเราก็ไม่มีเวลาให้กับเรื่องบางเรื่อง


ที่คนพูดพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า


อ้อมไปอ้อมมาจนกินกาแฟจะหมดแก้วแล้ว


เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร


หลายครั้ง เราจึงต้องการ “คนที่พูดตรงไปตรงมา” กับเรา

แต่หลายครั้งอีกเช่นกัน


ที่ความรู้สึกของเราก็ถูกทำร้ายด้วยการพูดความจริงของคนบางคน


ถูกทำร้ายด้วยการพูดจาตรงไปตรงมาในบางครั้ง


ตรงเสียจนเรารู้สึกว่ามันพุ่งตรงเข้ามา


“แทงใจดำ” ของเราเลยทีเดียว


คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้บ้างไหมล่ะคะ


แบบที่ เวลาเป็นคนฟัง ทั้งๆที่รู้ว่าคนพูดเขาจริงใจกับเรา


และปรารถนาดีกับเรา เขาจึงได้พูดความจริงกับเราอย่างตรงไปตรงมา


แต่คำพูดของเขาก็ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ กังวล


ไปจนถึงรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ


หรือเคยไหมคะ


ในทางกลับกัน


คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องพูด


ต้องบอกความจริงอะไรออกไปสักอย่าง


แต่ก็กลัวว่าถ้าพูดออกไปแล้ว คนฟังก็จะไม่สบายใจ แต่เราก็ไม่อยากพูดปด


และถ้าพูดอ้อมค้อม คนฟังก็อาจจะเข้าใจไปอีกทาง


ส่วนถ้าจะตัดสินใจพูดออกไปตรงๆ


ก็กลัวอีกว่า หลังจากเขาได้ฟังแล้ว อาจจะเสียความรู้สึกกับเรา


อาจจะเข้าใจเราผิด จนต่อไปอาจจะมองหน้ากันไม่ติดเลยก็ได้


ความจริงแล้วการพูดความจริงและการพูดตรงๆ ต่างก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะ


แต่ถ้าการพูดทั้งสองอย่างนี้จะทำให้อะไรๆแย่ลง


ก็คงเป็นเพราะ “วิธีการพูด” นั่นแหละค่ะ


เพราะ คนที่พูดความจริง, คนที่พูดตรงไปตรงมา


ไม่ควรจะเป็นคนคนเดียวกันที่พูดจาแบบ “ขวานผ่าซาก” นะคะ


เราสามารถพูดความจริงได้ พูดอย่างตรงไปตรงมาได้


โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการพูดทำร้ายจิตใจกัน


เพราะนั่นอาจจะเท่ากับการทำร้ายความรู้สึก


และความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย


คนที่พูดความจริง ก็ต้องรู้จักหาวิธีพูด


ที่จะทำให้ความจริงนั้นเป็นประโยชน์และเสริมสร้างกำลังใจให้คนฟัง


คนที่พูดตรงไปตรงมา คือ คนที่มีสติปัญญาและศิลปะในการจับประเด็น


เห็นจุดสำคัญของเรื่องนั้น ๆ สามารถเลือกสรรถ้อยคำ


ลำดับความคิดในการถ่ายทอดหรือสื่อสารออกไปให้กระชับ


ตรงกับปัญหา สถานการณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง


คือ ความต้องการของผู้ฟัง


“พูดตรง” จึงไม่ใช่ “พูดทื่อ”


ไม่ใช่การใช้คำพูดง่ายๆ ห้วนๆ ทื่อๆ ในการสื่อสารออกไป


คำพูดทื่อ ๆ นั้น บางครั้งยิ่งทื่อมากเท่าไหร่


ก็ยิ่งแหลมคม บาดใจ บั่นทอนความรู้สึกคนฟังมากขึ้นเท่านั้น


การพูดความจริงอย่างจริงใจ จึงต้องมาพร้อมๆ


กับการพูดที่ “ถนอมน้ำใจ” ด้วย


การพูดตรงมาตรงไป จึงต้องอาศัยศิลปะ


ในการเลือกใช้คำพูดและวิธีการพูดเพื่อให้ตรงประเด็น


ไม่ใช่การพูดอะไรออกไปก็ได้


ให้สั้นและเข้าใจง่ายที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว


ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นถ้าเราจะแสดงความคิดเห็น


ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเพื่อน


วิธีการที่เราจะสามารถพูดความจริงได้


พูดอย่างตรงไปตรงมาได้ และยังรักษาหรือถนอมน้ำใจคนฟังได้อีก


ก็คือหลักง่าย ๆ ในการพูดที่เรียกว่า “ละจุดที่ทำผิด บอกจุดที่ควรเพิ่ม”


เช่น แทนที่จะพูดว่า “งานแกมันดู..ธรรมดาๆ ไปป่าว


ดูไม่มีความแปลกใหม่อะไรเลย”


เปลี่ยนเป็นการพูดในเชิงว่า “ลองหาวิธีนำเสนอจุดเด่น


หรือจุดต่างของงานให้ออกมาเด่นชัดขึ้นดูไหม”


การพูดแบบแรก อาจจะเป็นทั้งความจริง(ตามความเห็นของเรา)


และเราก็พูดอย่างตรงไปตรงมา


แต่จะเห็นว่าการพูดแบบนี้ ก็จะมีน้ำเสียงของการตำหนิ


เพราะมีการพูดถึงจุดด้อยของงาน


แต่ถ้าเป็นการพูดแบบที่สอง ที่ละการพูดถึงจุดด้อย


เปลี่ยนเป็นบอกหรือถามกลับถึงวิธีพัฒนางานนั้น


ก็จะทำให้ฟังดูดีกว่า เพราะมีน้ำเสียงที่แสดงให้เห็นว่า


เราเห็นว่างานชิ้นนั้นมีคุณภาพดีแล้วในระดับหนึ่ง


ซึ่งน่าจะมีทางทำให้ดียิ่งกว่านี้ได้อีก


คนจริงใจ คนที่พูดความจริง และคนที่พูดตรงประเด็นนั้น


ไม่สมควรเลยที่จะถูกโกรธ ถูกเกลียดจากใคร


เพราะเขาทั้งจริงใจ พูดจริงและพูดตรง


แต่สิ่งที่คนจริงใจ คนพูดความจริง


และคนพูดตรงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนตนเองด้วย


ก็คือทักษะการถนอมน้ำใจคนฟัง


เพราะการถนอมน้ำใจคนฟัง ก็คือการรักษาความรู้สึกที่ดี


และความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย


การสื่อสารด้วยความจริงใจ


จึงต้องเป็นไปพร้อมๆ กับการเอาใจใส่ความรู้สึกของกันและกันนะคะ


ข้อมูลจาก ครูกวาง กษริน วงศ์กิตติชวลิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดและการสื่อสาร