แชร์เก็บไว้เลย! เผยเทคนิค ต้ม “มะระ” อย่างไร? ไม่ให้ “ขม” แถมอร่อยน่าทานสุดๆ!

ต้ม “มะระ” อย่างไร? ไม่ให้ “ขม” แถมอร่อยน่าทานสุดๆ!

หวานเป็นลม ขมเป็นยา แต่ขมเกินไปก็ทานไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ทานอาหารหรือผักที่มีรสขม อย่างมะระนี่ถ้าทำไม่เป็นรับรองว่าขมติดลิ้นไปนานเลย

แต่ไม่ต้องห่วง เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันมีวิธีดีๆหลายวิธีที่ช่วยลดความขมของมะระได้ และไม่ว่าจะนำไปทำเมนูอะไรก็อร่อยลิ้นได้ทั้งนั้น แถมยังได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายกลับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม หรือ วิตามินซี เป็นต้น



ทำไมมะระต้องมีรสขม


มะระเป็นพืชล้มลุกชนิดไม้เถา ตระกูลเดียวกับ ฟัก แฟง แตงกวา ซึ่งรสชาติขมในมะระเกิดขึ้นเพราะมีสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า Momodicine ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นความรู้สึกให้อยากอาหาร เรียกน้ำย่อย และเป็นยาระบายอย่างอ่อนๆ การทานมะระที่มีรสขมจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่อยากมีร่างกายแข็งแรง

เคล็ดลับวิธีลดความขมของมะระ


1. เลือกมะระดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

เทคนิคที่ควรรู้
1. เลือกมะระลูกอวบๆ รูปร่างตรงๆ ไม่งอ เพื่อจะได้หั่นเป็นชิ้นได้ง่าย
2. เลือกมะระริ้วใหญ่และห่าง จับดูแล้วเนื้อต้องแข็ง
3. ผิวออกสีเขียวอ่อนๆ ไม่ขาว ไม่เหลืองเกินไป ถ้ามะระเริ่มออกสีเหลืองส้มหรือเนื้อเริ่มนิ่ม แสดงว่า มะระเริ่มแก่แล้ว รสชาติจะขมมาก

2. ลดความขมด้วยเกลือ
หลังจากหั่นมะระเป็นชิ้นแล้ว ให้ใช้ช้อนขูดไส้และเมล็ดออก จากนั้นจึงนำมาคลุกกับเกลือ โดยมะระ 1 ลูก ให้ใช้เกลือประมาณ 2 ช้อน โรยให้ทั่วและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้สัก 10 นาที จึงล้างออก นำไปลวกต่อในน้ำเดือดแล้วจึงนำไปปรุงตามขั้นตอนต่างๆ

3. ลวกด้วยน้ำเกลือ
วิธีนี้เหมาะสำหรับเมนูผัด เริ่มจากต้มน้ำให้เดือดแล้วเติมเกลือลงไป นำมะระที่ซอยแล้วลงไปลวก พอมะระเริ่มออกสีเขียวเข้ม ให้รีบตักขึ้นมาล้างในน้ำเย็นเลยทันที ยิ่งน้ำเย็นจัดเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะทำให้มะระกรอบและมีสีสวย จากนั้นจึงตักขึ้นสะเด็ดน้ำ แล้วนำไปผัดหรือทานสดๆเป็นเครื่องเคียงกับขนมจีนก็ได้

4. ขยำเกลือ
ถ้ามะระมีรสขมมากๆ ให้ใช้วิธีซอยบางๆ แล้วนำไปขยำกับเกลือจนเนื้อนุ่ม หรือนำไปแช่ในน้ำเกลือสักพัก ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาดสัก 2-3 น้ำ เพื่อให้มะระหายเค็ม จากนั้นก็นำไปปรุงอาหารต่อได้เลย

5. ต้มน้ำหลายครั้ง
ถ้าไม่อยากให้มะระขม ให้นำมะระไปต้มในน้ำเดือดและเปลี่ยนน้ำหลายๆ ยิ่งเปลี่ยนน้ำมากเท่าไหร่ ความขมจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆเท่านั้น แถมยังได้เนื้อมะระที่นุ่มเหมาะสำหรับการต้มหรือตุ๋นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรต้มมะระหลายครั้งจนเกินไป เพราะจะทำให้มะระจืดจนเสียรสชาติไปหมด

6. ต้มโดยไม่ปิดฝาหม้อ
เหมาะสำหรับคนที่ชอบรสขมของมะระติดปลายลิ้นเล็กน้อย หรือเหมาะกับเมนูมะระยัดไส้ โดยหลังจากปรุงรสน้ำซุปเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ต้มไปเรื่อยๆด้วยไฟอ่อนๆ และไม่ต้องปิดฝาหม้อ  ยิ่งต้มนานเนื้อมะระก็จะยิ่งนุ่ม และมีรสชาตินุ่มนวลที่เหลือรสขมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ข้อควรระวัง :

1. ห้ามรับประทานมะระสุก เพราะอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ เนื่องจากมีสารซาโปนินอยู่มาก ซึ่งสารนี้จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้
2. อย่าทานมะระมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสีย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

ต่อจากนี้ไป การทำมะระทานครั้งต่อไปก็คงจะอร่อยขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้มจืด แกงจืดมะระยัดไส้ มะระผัด ยำมะระสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก กินกันแบบไม่ต้องกลัวขมเลย เพราะเคล็ดลับนี้ช่วยคุณได้แน่นอน…กินได้บ่อย อร่อยได้ประโยชน์สุดๆ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก kaijeaw