9 วิธีทีจะช่วยให้กิเลสเบาบางลง

วิธีที่จะช่วยให้กิเลสเบาบางลง ทั้ง 9 ข้อนี้จะช่วยไม่ให้กิเลสปรากฏตัวออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำ ช่วยให้เราสามารถจับจิตเอาไว้ได้ง่ายขึ้น และจะส่งเสริมให้เราทำสิ่งที่ดีจนเป็นนิสัย

ข้อ 1 ควบคุมความอยาก

หากเราปล่อยให้ความโลภทำงาน จิตจะปั่นป่วน แรงใจในการทำงานก็จะหยุดชะงักลง
สิ่งสำคัญในการฝึกจิต คือ ทำความเข้าใจถึงเหตุที่ทำให้เกิดความโลภและผลที่จะเกิดตามมา แล้วตั้งใจตรวจดูจิตให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้ความโลภบุกรุกเข้ามาได้อีก

ข้อ 2 ควบคุมความโกรธ

หากเราให้พลังการผลักไสสิ่งที่ไม่ต้องการซึ่งมีที่มาจากความโกรธทำงานต่อไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกกระวนกระวายใจ ภายในร่างกายก็จะเต็มไปด้วยสารพิษ กลายเป็นแหล่งที่จะดึงเอาความทุกข์ทั้งหมดที่มีเข้ามา ความโกรธเป็นกิเลสตัวที่ควรระวังและควรขจัดออกไปจากเรา

ข้อ 3 มองให้เห็นความเป็นจริง

เมื่อพลังแห่งความหลงทำงาน จิตจะออกห่างจาก “ปัจจุบัน” กระจัดกระจายไปที่โน่นที่นี่ และกลายเป็นแหล่งเพาะความโลภและความโกรธ การจะเห็นพลังงานความหลงที่เป็นต้นเหตุให้มองไม่เห็นความจริงนี้ จะต้องมีความใส่ใจที่ละเอียดมาก หากเรารู้ตัวแล้วป้องกันเอาไว้ได้ จิตที่มีความสงบเป็นปกติ ไม่สั่นไหว และแจ่มชัดก็จะเติบโตขึ้น

ข้อ 4 ไม่โกหก

ส่วนใหญ่แล้วการโกหกเกือบทั้งหมด เป็นไปเพื่อการทำให้ความต้องการของตนเองบรรลุผล หากโกหกแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะต้องโกหกซ้ำอีกในครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้ความจริงถูกเปิดเผย ในแต่ละครั้งที่โกหก สิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริงก็จะถูกใส่ลงไปในจิตใต้สำนึกทุกครั้ง เมื่อทำซ้ำๆ จิตจะยิ่งสับสนวุ่นวาย ทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดน้อยลง สูญเสียสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจไปทีละนิด จึงควรระลึกเสมอว่าอย่าโกหก

ข้อ 5 ไม่วิพากษ์วิจารณ์โดยเอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่

เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วย “ทิฏฐิ” ซึ่งเป็นการยึดติดกับความคิดของตน พลังงานที่คอยบอกว่า “ฉัน! ฉัน!” ก็จะเพิ่มขึ้น และเนื่องจากมีความรู้สึกโจมตีฝ่ายตรงข้ามเข้ามาร่วมด้วย พลังงานความโกรธก็จึงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

การพูดเรื่องที่ไม่ดีหรือเขียนสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกไม่พอใจ ภาพยนตร์ที่คิดว่าน่าเบื่อ เพลงหรือหนังสือที่ไม่ชอบ เป็นต้น เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยบนโลกใบนี้ แต่นั่นเป็นเพียงการกระทำที่ทำให้ตัวเราแปดเปื้อนและดูน่ารังเกียจด้วยความโลภและความโกรธ หากจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร ให้ตรวจสอบจิตตัวเองให้ดีว่า ทำไปด้วยความยึดติดในความคิดของตัวเองหรือเปล่า

ข้อ 6 ไม่นินทา

หากเรานินทาใครสักคน จิตก็จะปั่นป่วนด้วยพลังงานความโกรธ แทนที่จะเป็นการระบายความเครียด แต่กลับกลายเป็นการทำให้ความเครียดที่ซ่อนตัวอยู่เพิ่มปริมาณมากขึ้น

ข้อ 7 ไม่พูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์

โดยเฉพาะการพูดโอ้อวดตนนั้น แม้ว่าฝ่ายที่พูดจะรู้สึกสนุก แต่ฝ่ายที่ฟังมักจะรู้สึกอึดอัด เมื่อเราเล่าเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เรามักพูดไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าในบทสนทนานี้เราจำเป็นต้องถ่ายทอดอะไรออกไป หรืออีกฝ่ายได้ฟังเรื่องแบบใดจึงจะรู้สึกสนุก

นอกจากนี้ในขณะที่เรากำลังพูดกับอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ นั้น ภายในจิตก็กำลังกระตุ้นความต้องการที่ว่า “เข้าใจฉันสิ! ยอมรับฉันสิ!” อยู่ด้วย จำไว้ว่า การโวยวายเรียกร้องให้คน “ยอมรับสิ!” นั้นกลับจะยิ่งทำให้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไกลห่างออกไปอีก

ข้อ 8 ไม่นอกใจ

การนอกใจ เกิดมาจากความโลภที่มีมากเกินไป จึงทำให้ไม่รู้สึกพอใจกับคนรักเพียงคนเดียว การกำลังคบกับคนคนหนึ่งเท่ากับเป็นการหักหลังอีกคนหนึ่ง และการกำลังคบกับคนอีกคนหนึ่งก็เป็นการหักหลังคนอื่นไปอีก ความรู้สึกผิดที่เกิดในเวลานั้นจะกลายเป็นความไม่พอใจ ทำให้พลังงานความโกรธเพิ่มขึ้น

ข้อ 9 ไม่ฆ่ าสิ่งมีชีวิต
การฆ่ าสิ่งมีชีวิตนั้นใช้พลังงานความโกรธที่รุ นแร งเป็นอย่างมาก

หากฝ่ายที่เราจะฆ่ าเป็นมนุษย์ พลังงานความโกรธที่รุนแร งมากเป็นพิเศษจะถูกเรียกตัวมารวมกัน แต่ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นยุง หรือแมลงสาบ ก็ไม่แตกต่างกัน ในกรณีนี้พลังงานความโกรธก็ถูกกระตุ้นเช่นกันว่า “สิ่งมีชีวิตที่ฉันเกลียดนี่นา เกะกะขวางทางฉันเสียจริง สิ่งมีชีวิตแบบนี้น่าจะต ายๆ ไปซะ ไม่สิ มันสมควรต าย”

อย่างน้อยเพื่อไม่ให้ฆ่ า  ขอแนะนำให้กางมุ้ง หรือใช้ยากันยุง

การเปลี่ยนความคิดจาก “เดี๋ยวฆ่ าซะเลย” เป็น “ช่วยไปที่อื่นหน่อยได้ไหม” จะทำให้พลังงานความโกรธลดลง ทำให้จิตผ่อนคลายขึ้น และการทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดนิสัยที่ดีงามขึ้นมา

ขอบพระคุณ : goodlifeupdate