“ช้างเอราวัณ” ให้โชค ขออะไรได้ดั่งใจหวัง

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เป็นประติมากรรมลอยตัวรูปช้าง 3 เศียร ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัวที่ถูกสร้างขึ้นโดยด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกและแห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ควรพลาดของจังหวัดสมุทรปราการ

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อปี 2537 โดยได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ตัวช้างรวมทั้งอาคารรองรับมีความสูง 43.6 เมตร (เทียบเท่าตึก 14 ชั้น) ความกว้างของช้าง 12 เมตร ความยาวลำตัวช้าง 39 เมตร น้ำหนักของลำตัวช้าง 150 ตัน และน้ำหนักของเศียรช้าง 100 ตัน แผ่นทองแดงบุผิวช้างด้านนอกทั้งตัว โดยใช้แผ่นทองแดงหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร มีขนาดต่างๆกัน ตั้งแต่ 4×8 ฟุต จนถึงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ เคาะตกแต่งลวดลายเรียงต่อกันหลายแสนชิ้นด้วยความประณีต

เอราวัณ เรียกใน ภาษาสันสกฤตว่า ไอราวต หรือ ไอราวณ ภาษาบาลีเรียกว่า เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และเอราวัณ ชื่อต่างๆ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่ากลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก คัมภีร์ไตรภูมิกถา ได้พรรณนาความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียดพิสดารมาก ซึ่งสรุปได้ว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาวเผือก มีเศียร (หัว) 33 เศียร

ในคติโบราณเชื่อว่า บทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์และโลกมนุษย์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เนื่องจากพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าเทวดาที่คอยควบคุมดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง บันดาลความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลเกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์

ช้างเอราวัณนั้น ถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ คือสัญลักษณ์ของการกระทำความดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และเหตุที่ในทางศิลปกรรมนิยมทำรูปช้างเป็นสามเศียรแทนสามสิบสามเศียรนั้นเป็นการลดรูปทางศิลปะให้มีสัดส่วนที่สมดุลงดงามลงตัว

อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จัดแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นสามส่วน ซึ่งได้แนวคิดมาจาคัมภีร์ไตรภูมิกถา ที่แบ่งภพภูมิ เป็นสามส่วนสำคัญ คือ บาดาล โลกมนุษย์ และสวรรค์

ชั้นสุวรรณภูมิ
ชั้นล่างสุดเป็นใต้ดินหรือบาดาล เรียกว่า “ชั้นสุวรรณภูมิ” จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องกระเบื้อง ในชั้นนี้ต้องการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโบราณเรียกว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ โบราณวัตถุที่นำมาสื่อความหมาย คือ ภาชนะดินเผา ที่เรียกว่า “เครื่องกระเบื้อง” เพราะการทำภาชนะดินเผานับเป็นนวัตกรรมในการผลิตเครื่องใช้สอยอันปรากฎหลักฐานว่ามีใช้กันมานับพันปีแล้วในดินแดนสุวรรณภูมิ ใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนในเชิงพาณิชย์ แสดงถึงความเคลื่อนไหวติดต่อกันของท้องถิ่นต่างๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ ประเภทภาชนะที่นำมาจัดแสดง อาทิ เครื่องสังคโลก ภาชนะเครื่องกระเบื้องแบบลพบุรี เครื่องเบญจรงค์ และเบญจรงค์ลายน้ำทอง เป็นต้น

ชั้นโลกมนุษย์
ลำดับที่สองหรือชั้นกลางเป็นส่วนอาคารที่รองรับตัวช้างคือ “ชั้นโลกมนุษย์” เป็นบริเวณตัวอาคารทรงกลมที่รองรับน้ำหนักของตัวช้าง เล่าถึงเรื่องราวสะท้อนแก่นพระศาสนาที่ค้ำจุนโลกมนุษย์ให้เกิดศานติผ่านเสาเคาะดุนโลหะภายในอาคารเป็นภาพเรื่องราวอันแฝงด้วยคติธรรมทางศาสนา ภายในอาคารประดับตกแต่งตามส่วนต่างๆ ด้วยเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลวดลายปูนปั้นอวดฝีมือภูมิปัญญาแห่งช่างไทยได้อย่างวิจิตร ผสมผสานศิลปะของโลกตะวันตกอย่างกลมกลืนด้วยเพดานอาคารห้องโถงอันเปรียบเสมือนหลังคาโลก ตกแต่งเป็นรูปแผนที่โลกขนาดใหญ่บนงานกระจกสี (stained glass) เป็นผลงานของ Mr.Jacob Schwarzkopf ศิลปินชาวเยอรมัน

ชั้นจักรวาล
ชั้นสามคือส่วนในตัวช้างเป็นส่วนที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไปตามคติในไตรภูมิ นั้นสรวงสวรรค์ เรียกว่า “ชั้นจักรวาล” เป็นบริเวณภายในตัวอาคารรูปช้าง จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ ซึ่งจัดแสดงในลักษณะของการประดิษฐานให้สมกับความที่เป็นสิ่งเคารพบูชาอันเป็นค่าควรเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำแหน่งที่เหมาะสม

บัตรเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป
ราคาบัตรสำหรับชาวไทย (พร้อมดอกไม้ ธูป สามารถเดินชมบริเวณสวนได้โดยรอบ) เวลา 09.00-19.00 น. ● ผู้ใหญ่ 250 บาท / เด็ก 125 บาท

ราคาบัตรสำหรับชาวต่างประเทศ เวลา 09.00-19.00 น. ● ผู้ใหญ่ 400 บาท / เด็ก 200 บาท
มีบริการ Audio Guide (ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี รัสเซีย) สำหรับท่านที่เข้าชมภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์
เปิดให้เข้าชมตามรอบ หนังตะลุง รอบที่ 1 เวลา 09.00 – 10.00 น. รอบที่ 2 เวลา 10.00 – 11.00 น. รอบที่ 3 เวลา 11.00 – 12.00 น. รอบที่ 4 เวลา 12.30 – 13.30 น.
รอบที่ 5 เวลา 13.30 – 14.30 น. รอบที่ 6 เวลา 14.30 – 15.30 น. รอบที่ 7 เวลา 15.30 – 16.30 น. รอบที่ 8 เวลา 16.30 – 17.30 น.

ตั้งแต่เวลา 18.00 – 19.00 น. เข้าชมได้ตามอัธยาศัย – รอบเวลาการเข้าชมดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้ข้อมูลโดยทั่วไป – นักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ (ไม่เกิน 30 คน/ 1 กลุ่ม) ต้องการมัคคุเทศก์นำชม
กรุณาติดต่อที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตร
● บริการที่จอดรถฟรี ● รถประจำทางสาย 25, 142, 365 รถประจำทางปรับอากาศสาย 102, 507, 511, 536 ● อัตราเข้าชมพิเศษ สำหรับนักเรียน-นักศึกษา ที่มาเป็นหมู่คณะในนามโรงเรียนหรือสถานศึกษา
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-371-3135-6 โทรสาร 02-380-0304

ระเบียบพึงปฏิบัติในการเข้าชม

๑. กรุณาแต่งกายสุภาพ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด สายเดี่ยว หรือชุดสวมสั้นเหนือเข่า ๒. ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้า ๓. กรุณาเข้าชมด้วยความสุภาพ ห้ามส่งเสียงดัง

๔. กรุณารักษาความสะอาด ๕. ห้ามกระทำใดๆ ให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อสถานที่ ๖. ห้ามนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปรับประทาน ๗. โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ขอขอบคุณทีมาจาก:muangboranmuseum.com