เปิด 3 เทคนิคการสัมภาษณ์งานแบบไม่ซ้ำใคร วิเคราะห์ผู้สมัครได้แม่นยำ


          3 วิธีสัมภาษณ์งานรูปแบบใหม่ที่ทดสอบความคิดของผู้สมัครได้อย่างชัดเจน ช่วยให้องค์กรวิเคราะห์ตัวตนผู้สมัครอย่างแม่นยำขึ้น
 

          การสัมภาษณ์งานถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่แต่ละองค์กรใช้ในการคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเหมาะสม เข้ามาทำงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปผู้สัมภาษณ์มักสอบถามในเรื่องของเนื้องาน หรือทักษะความรู้ในงานเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสอบถามเรื่องของทัศนคติ บุคลิกภาพ การควบคุมอารมณ์ มนุษยสัมพันธ์ที่จะต้องทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่น แล้วนำผลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ทั้งสองส่วนนี้มาพิจารณาร่วมกัน

          แต่ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เริ่มหากลยุทธ์ในการสัมภาษณ์งานที่แตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อเป็นการทดสอบความคิดและวิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าของผู้สมัครงาน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรนั้นสามารถวิเคราะห์และเข้าใจตัวตนของผู้สมัครงานได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น งานนี้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม จึงได้นำเทคนิคการสัมภาษณ์งานแบบไม่ซ้ำใครที่จะทำให้องค์กรเข้าใจผู้สมัครงานได้มากขึ้น มาแนะนำ 3 วิธี ดังนี้

สัมภาษณ์งาน

          สัมภาษณ์เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน

          การตั้งคำถามแปลก ๆ หรือคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับงานเลย เช่น ทำไมฝาท่อระบายน้ำถึงเป็นวงกลม ถ้าเกิดมีซอมบี้บุกโลกจริงคุณจะทำอย่างไร เป็นต้น เนื่องจากคำถามเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งวิธีการเชิงจิตวิทยาที่จะทำให้บริษัทเข้าใจหรือรู้จักความคิดและตัวตนของผู้สมัครงานมากขึ้น นอกเหนือจากการถามคำถามธรรมดาทั่วไป ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามนั้นอาจจะไม่มี แต่คำตอบจะสามารถเผยให้เห็นถึงความคิดหรือความรู้สึกของผู้สมัครงานมากขึ้น ทำให้องค์กรประเมินเบื้องต้นได้ว่าผู้สมัครงานมีความคิดเห็นอย่างไร และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัครมากน้อยเพียงใด

          สัมภาษณ์โดยการสร้างสถานการณ์จำลอง

          วิธีนี้อาจทำได้โดยการนัดผู้สมัครงานไปสัมภาษณ์ที่ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ และให้ทางร้านช่วยแกล้งเสริฟ์อาหาร-เครื่องดื่มผิดให้กับผู้สมัครงาน เพื่อที่องค์กรจะได้สังเกตปฏิกิริยาของผู้สมัครงานว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร พวกเขาจะทำเป็นไม่ใส่ใจหรือหัวเสียไหม หรือพวกเขาจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วค่อย ๆ หาวิธีรับมือกับปัญหา ซึ่งการทดสอบแบบนี้จะทำให้องค์ได้เห็นผู้สัมภาษณ์ในมุมอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องทักษะหรือความสามารถในการทำงาน เพราะไม่ว่าผู้สมัครงานจะมีปฏิกริยาแบบไหน องค์กรก็สามารถนำสิ่งที่พบเจอมาเป็นคะแนนเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ทั้งนั้น

สัมภาษณ์งาน

          สัมภาษณ์โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือทดลองงานจริงระยะสั้น ๆ

          เช่น การทำเวิร์กช็อป หรือการลงภาคสนามด้วยการทดลองงานกันจริง ๆ ซึ่งวิธีการสัมภาษณ์เหล่านี้จะช่วยทำให้องค์กรรู้จักกับบุคลิกภาพ ทัศนคติ ตลอดจนศักยภาพของผู้สมัครงานแต่ละคนได้ดีขึ้น เพราะบางตำแหน่งแค่การนั่งสัมภาษณ์งานอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เช่น งานขายและบริการลูกค้า อาจจะจัดเวิร์กช็อปและลองให้ผู้สมัครงานแต่ละรายได้นำเสนอสินค้าหรือบริการ รวมถึงวิธีการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า เป็นต้น

          ทั้งนี้วิธีการสัมภาษณ์ในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้องค์กรได้เข้าใจ ตลอดจนมองเห็นบุคลิกภาพ ทัศนคติของผู้สมัครงานมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจว่าผู้สมัครงานคนดังกล่าวมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการมากน้อยเพียงใด ในทางกลับกัน ผู้สมัครงานเองก็จะได้มองเห็นและเข้าใจถึงวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนบุคลากรภายในองค์กรที่จะได้ทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ที่มา : businessinsider.com, nytimes.com, forbes.com


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
JobThai.com