คนว่างงานควรรู้ ประกันสังคมยังให้เงินเดือนถึงแม้ว่าจะว่างงาน

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจุดประสงค์ของการทำประกันสังคม คือ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพสงเคราะห์บุตรชราภาพ และว่างงาน

        สำหรับคนที่เป็นสมาชิกประกันสังคมและส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาย้อนหลัง 15 เดือน หากตอนนี้คุณกำลังตกงาน จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ถ้าไม่ได้ออกจากงานเพราะทำผิดกฎหมาย หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ให้รีบไปขึ้นทะเบียนหางาน ณ สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง ทางสำนักงานประกันสังคมจะได้ให้ความช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน โดยหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีดังนี้ 

        หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีสิทธิในกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย 

        เมื่อว่างงานแล้วผู้ประกันตนจะต้องทำอย่างไร

            1. ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมจัดหางาน หรือที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น

            2. มีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้

            3. ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

            4. ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานหรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์กรมจัดหางาน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้

            - ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

            - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

            - ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง

            - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร

            - ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างรับความเสียหายอย่างร้ายแรง

            - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

            - ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

           ทั้งนี้ ผู้ประกันมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย

          สิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทน

          กรณีถูกเลิกจ้าง

          ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ (อัตราค่าจ้างจริงต่ำสุด) 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน (อัตราค่าจ้างจริงสูงสุด) 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น  ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าหากผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท ผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินเดือนที่คิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท หรือเท่ากับ 15,000 x 50/100 = 7,500 บาท
         
           กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

          ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

          เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

          ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

          ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

           หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

          2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

          3. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

          4. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

          5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          ขั้นตอนและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน

          1. ลงทะเบียนขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานด้วยตัวเองทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมจัดหางาน ภายใน 30 วันนับจากลาออกจากงาน

          2. บันทึกการลงทะเบียนและตรวจสอบวันที่รายงานตัว

          3. นำเอกสารต่าง ๆ มายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

          4. รายงานตัวทุกเดือนตามวันนัดหมายผ่านเว็บไซต์ของกรมจัดหางาน

มนุษย์เราชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป ดังนั้นผู้ประกันตนที่กำลังว่างงานอยู่ในขณะนี้ก็อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง ขอให้ลองมองดูรอบ ๆ ตัวว่ามีโอกาสอะไรยังเปิดกว้างอยู่หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในโอกาสนั้นก็คือการไปขึ้นทะเบียนที่สำนักจัดหางานของรัฐ เพื่อให้ช่วยประสานงานในการจัดหางานให้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ได้เงินมาใช้ แถมได้งานอีกด้วย กระปุกดอทคอมหวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้คนว่างงานได้ยิ้มออกกันบ้างนะครับ

          สำหรับสถานที่ยื่นเรื่องผู้ประกันตนยื่นได้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐที่ไหนก็ได้ที่สะดวก ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่่ สำนักงานประกันสังคม  

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com